นร.สาธิตราชภัฏอุบล ฯ คว้าที่ 1 สอบเข้า ม.1 EP รร.เบ็ญจะมะมหาราช
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี ประกาศผลการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ประเภทห้องเรียนพิเศษในโครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ (English Program : EP) ปรากฎว่า นักเรียนผู้ที่ได้ลำดับที่ 1-3 ไม่ได้เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชื่อดังตามที่คาดกันไว้ โดยลำดับที่ 1 ตกเป็นของ เด็กหญิงภัทรานิษฐ์ อิทธิธรรมบูรณ์ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และลำดับที่ 2-3 ได้แก่นักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติแอ๊ดแวนติสมิชชั่นอุบล
เด็กหญิงภัทรานิษฐ์ อิทธิธรรมบูรณ์ หรือ น้องกุ๊กกิ๊ก เด็กเก่งจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวถึงความมรู้สึกเมื่อทราบผลการสอบว่า “คืนวันอังคารที่จะมีการประกาศผลการสอบนั้น หนูได้เข้านอนแต่หัวค่ำ และก็ตื่นมาลุ้นผลสอบตอนเที่ยงคืน พอทราบผลสอบว่าได้ที่ 1 ห้อง EP ก็รู้สึกดีใจมาก ตอนที่ทำข้อสอบก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ที่ 1 เพียงแต่เตรียมตัวและแต่ตั้งใจทำให้ดีที่สุด กับผลที่ออกมาเกินคาด ดีใจสุด ๆ ค่ะ”
น้องกุ๊กกิ๊ก เป็นบุตรคนที่สองของนายแพทย์ปัญญา อิทธิธรรมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม และแพทย์หญิงครองแก้ว อิทธิธรรมบูรณ์ วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม ซึ่งทั้งสองเล่าให้ฟังว่า ทั้งสองท่านมีลูก 2 คน คนโตกำลังเรียนชั้น ม.4 ที่โรงเรียนเบ็ญจะมะ ฯ ส่วน “น้องกุ๊กกิ๊ก” เป็นลูกคนเล็ก กำลังเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
“ก่อนหน้านี้กุ๊กกิ๊กเรียนอยู่ที่โรงเรียนยุวทูตศึกษา 2 (YES2) อุบลราชธานี ตั้งแต่ก่อนเกณฑ์จนถึงชั้น ป.3 พอถึงจุดนี้ก็ได้มองหาที่เรียนต่อให้ลูกในหลายที่ และสุดท้ายตัดสินใจเลือกมาเรียนต่อในชั้น ป.4 โรงเรียนสาธิต ม.ราชภัฏอุบล ฯ เพราะหลังจากได้เยี่ยมชมสถานที่และวิธีจัดการเรียนการสอนแล้ว มีความเชื่อมั่นและมั่นใจว่าเป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อม และสามารถให้ความรู้ – ประสบการณ์ที่ดีกับลูกของเราได้ สังคมที่นี่น่ารัก อบอุ่น เพื่อน ๆ ให้การต้อนรับและดูแลเด็กใหม่เป็นอย่างดี มีมิตรภาพที่ดี ไม่มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น มีแต่ความเป็นเพื่อนให้กันและกัน ไม่ผิดหวังเลยที่พาลูกมาเข้าเรียนที่นี่ เหมือนได้รับการดูแลสามชั้น เพราะนอกจากจะได้รับการดูแลจาก (1) ครอบครัว (2) ครูที่โรงเรียนแล้ว ยังมี (3) พี่ ๆ นักศึกษาครูจากคณะครุศาสตร์ มาช่วยจัดการเรียนรู้อีกด้วย”
น้องกุ๊กกิ๊ก ที่เพิ่งคว้ารางวัล “ชนะเลิศ Thailand English Skills Evaluation Test (TESET) หรือโครงการประเมินทักษะภาษาอังกฤษระดับประเทศ ครั้งที่ 3” และ “ชนะเลิศ การแข่งขันทักษะทางวิชาการ เครือข่ายโรงเรียนสาธิตราชภัฏภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 7” เล่าว่า
“ตลอด 3 ปีที่เรียนอยู่โรงเรียนสาธิต มรภ.อุบล ฯ รู้สึกประทับใจในการเรียนและความเอาใจใส่ของทุกคนที่นี่ ได้ความรู้และประสบการณ์มากมาย ได้ความสุขใจและอบอุ่นจากคุณครู ได้ความสนุกและอบอุ่นจากพี่ ๆ นักศึกษาที่มาฝึกสอน มีกิจกรรมสนุก ๆ เพิ่มความรู้ให้ได้พัฒนาตนเอง และค้นพบในสิ่งที่ตนเองชอบ เรียนที่นี่สนุก เรียนวิทยาศาสตร์ก็เรียนในห้องแล็บคณะวิทยาศาสตร์ คณะพยาบาล เรียนสุขศึกษาก็เรียนในแล็บคณะสาธารณสุข เรียนดนตรีก็เรียนกับอาจารย์ที่สอนพี่ ๆ มหาวิทยาลัย ได้ใช้เครื่องมือ – อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้จริง ๆ ตลอดเวลา”
สำหรับการเตรียมตัวก่อนสอบเข้าโรงเรียนเบ็ญจะมะ ฯ “ก็จะเริ่มจากหาข้อมูลและวางแผนก่อนว่าต้องสอบวิชาอะไรบ้าง แล้วก็จะเลือกในสายที่เราชอบ ซึ่งก็จะได้รับความช่วยเหลือจากครูแนะแนวให้ทำ Pretest แต่ละวิชา เพื่อหาจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเราและวางแผนวิธีเติมเต็มความรู้ และเป็นคนไม่เครียดกับสิ่งที่ทำ (เพราะเราเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งความสุข 555) เวลาว่างก็จะดูซีรี่ย์จาก Netflix ที่เป็นภาษาอังกฤษ ช่วยให้เรียนรู้ศัพท์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ บางทีก็ผ่อนคลายด้วยการดูสารคดีที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ชื่นชอบอยู่แล้ว ส่วนความฝันในอนาคตนั้น กุ๊กกิ๊กอยากจะไปทำงานที่องค์การนาซา (NASA) ค่ะ”
สำหรับโรงเรียนสาธิต ม.ราชภัฏอุบล ฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งของ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี ที่ รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล รก.อธิการบดี มุ่งเน้นว่าก็ต้องเป็นองค์กรแห่งความสุของค์กรหนึ่งตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย โดยโรงเรียนสาธิต ม.ราชภัฏอุบล ฯ กำหนดเป็น “เป็นโรงเรียนแห่งความสุข เน้นพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนบนพื้นฐานการวิจัย เป็นแหล่งพัฒนาฝึกวิชาชีพครู พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ เสริมสร้างสมรรถนะที่จำเป็นเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตของผู้เรียนบนร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจที่สมบูรณ์” จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ม.6
ในระดับประถมศึกษา ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเน้นการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ในชั้น ป.1 – 6 และภาษาจีน ตั้งแต่ชั้น ป. 4 – 6 โดยครูไทย ครูต่างชาติ และนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูสาขาต่าง ๆ ของคณะครุศาสตร์ มุ่งเน้นพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสนใจ รวมทั้งปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม โดยเพิ่มเติมเนื้อหาสาระในกิจกรรมที่หลากหลายรูปแบบ เช่น กิจกรรมค่ายภาษา กิจกรรมส่งเสริมบรรยากาศทางวิชาการอื่น ๆ ให้เลือกเรียนเทควันโด ฟุตซอล มวยไทย เทนนิส ดนตรีไทย นาฏศิลป์ ศิลปะ บอร์ดเกม เอแมท ภาษาจีน ตามความสนใจเป็นต้น
ทั้งโรงเรียนใช้วิธีการจัดการเรียนรู้เชิงรุกแบบ AKITA Action ของเมืองอะคิตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2003 หลังจากเกิดปรากฏการณ์ PISA Shock คือ ระดับคะแนนสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Program for International Student Assessment: PISA) ของประเทศญี่ปุ่นลดลง กระทรวงการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นจึงหาแนวทางในการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 โดยเมืองอะคิตะพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยประยุกต์การเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry based Learning) ร่วมกับแนวคิดในการพัฒนาการเรียนรู้เชิงรุกเป็นรากฐานของการศึกษา ตั้งแต่ ค.ศ. 2007 เป็นต้นมา จนพบว่าผลคะแนน PISA ของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นของเมืองอะคิตะ อยู่ในระดับสูงสุดของประเทศ
หลักการสำคัญของการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดอะคิตะ ที่โรงเรียนสาธิต ม.ราชภัฏอุบล ฯ นำมาประยุกต์ใช้ ประกอบด้วย 3 หลักการที่สำคัญ คือ
- การเรียนรู้อย่างลึกซึ้งที่มุ่งให้นักเรียนค้นพบและแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งอยู่ในกระบวนการเรียนรู้แบบ “เรียนรู้ ประยุกต์ ค้นหา”
- การเรียนรู้เชิงสนทนาเพื่อขยายความคิดของตนเองให้กว้างและลึกด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและโลกภายนอก
- เด็กรู้จักคาดการณ์ ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเต็มความสามารถ ทบทวนกิจกรรมเรียนรู้ของตนเองและนำ ไปสู่การเรียนรู้ขั้นต่อไปแบบ Active Learning
ผลที่เกิดขึ้นจากการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน กระบวนการที่เต็มไปด้วยความพยายาม ทุ่มเททำทุกอย่างให้เต็มที่ นับว่าเป็นรูปแบบที่น่าสนใจและเริ่มเห็นผลสำเร็จตามที่โรงเรียนสาธิต ม.ราชภัฏอุบล ฯ นำมาใช้ โดยเฉพาะผลลัพธ์ที่น่าภาคภูมิใจกับกรณีน้องกุ๊กกิ๊ก เด็กหญิงภัทรานิษฐ์ อิทธิธรรมบูรณ์ แม้จะเป็นเพียงเด็กประถม แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมีรูปแบบที่ชัดเจน เป็นแบบอย่างกับทุก ๆ คนได้ คุณพ่อคุณแม่และครอบครัวที่อบอุ่นเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นกำลังใจ ให้กระบวนการชีวิตที่เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายในแต่ละครั้งที่ชัดเจน วางแผนสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ทำทุกอย่างด้วยความสนุก ไม่เครียด มีรอยยิ้ม มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ก็เชื่อได้ว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์หรือเป้าหมายทุกอย่างที่กำหนดไว้
ข่าว : นันทิชา วิปุละ
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี