เปิดใจครูปุ๋ย “ครูของครู”
เพชรแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ

จะเป็นเพชรเม็ดงามได้ต้องเก่งและดีแค่ไหนกัน?

         รางวัล “เพชรราชภัฏ (ครุศาสตร์)” เป็นรางวัลที่ถือกำเนิดจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั่วประเทศ (ทปอ.) กำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ ประกาศเกียรติคุณ และให้กำลังใจแก่อาจารย์ครุศาสตร์ที่มีความรู้ ความสามารถ อุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัย และปฏิบัติตน  ตามจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเหมาะสม ทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีแก่อาจารย์ครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง ซึ่งรางวัลดังกล่าวแบ่งออกเป็น 7 รางวัล ตามเขต ทปอ.ราชภัฏตามกลุ่มภูมิภาค โดยแบ่งออกเป็น 6 ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มภาคเหนือ กลุ่มภาคตะวันตก กลุ่มภาคกลาง กลุ่มภาคใต้ กลุ่มกรุงเทพมหานคร และกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยาภรณ์ พิชญาภิรัตน์ หรือที่ลูก ๆ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ เรียกกันว่า “ครูปุ๋ย” ประธานสาขาวิชาการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน (ค.ม.) และยังเป็นประธานศูนย์ฝึกประสบการวิชาชีพครู สังกัดคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 1 ใน 2 คน จากกลุ่มภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็น 1 ใน 6 คน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการจัดกิจกรรมรางวัลเชิดชูเกียรติ “เพชรราชภัฏ” เข้ารับประกาศเกียรติคุณและรับโล่เชิดชูเกียรติ ฯ ประเภทอาจารย์ครุศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 จาก พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ประธานที่ปรึกษา (กิตติมศักดิ์) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็นประธานในพิธีถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน “วันราชภัฏ” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ได้รับมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ “ผู้มีคุณูปการต่อสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา”  เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ปีที่ 78 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 และ “ครูปุ๋ย” ยังได้รับรางวัล “อาจารย์ดีเด่นรางวัลบุญถิ่นอัตถากร ปี 2565” และเข้ารับรางวัลเมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนากรมการฝึกหัดครูและการสถาปนาการฝึกหัดครูไทย ครบรอง 131 ปี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

เรื่องเล่ายาว ๆ แต่สนุกให้ความรู้จากครูปุ๋ย

          “ครูปุ๋ย” เล่าให้ฟังว่า ภาคภูมิใจสุด ๆ ในชีวิตความเป็นครู กับรางวัล“รางวัลเพชรราชภัฏ ครุศาสตร์” นับเป็นเกียรติประวัติของตนเองและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง และเป็นความภาคภูมิใจของคณะครุศาสตร์ สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และสิ่งสำคัญที่สุดคือเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ตระหนักในความเป็น “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน” ที่ต้องทำงานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน การน้อมนำพระบรมราโชบายทางด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาสู่การปฏิบัติให้เกิดผล พร้อมทั้งน้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติในการทำงานเพื่อส่วนรวม และการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ยึดมั่นในวิถีครู เป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกศิษย์เสมอมา และทุกรางวัลที่ได้รับนั้น สร้างขวัญกำลังใจให้เป็นอย่างมาก ทำให้มีแรงใจในการพัฒนาตนเองในการเป็นผู้พัฒนานักศึกษาครุศาสตร์ให้เป็นครูที่เป็นคนดีและมีความสามารถ ออกไปสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ประเทศชาติต่อไป

          เส้นทางวิชาชีพของครูหลาย ๆ คน อาจมีความแตกต่างกัน สำหรับ “ครูปุ๋ย” นั้น ถือเป็นความงดงามหนึ่งของชีวิต เป็นวิชาชีพที่สามารถสร้างความงอกงามทางปัญญาและปลูกฝังคุณค่าความดีงามให้กับศิษย์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเส้นทางของคำว่า “ครู” กล่าวได้ว่า “ครอบครัว” คือต้นทุนสำคัญของความเป็นครู ภูมิลำเนาบ้านเกิดอยู่ที่บ้านสร้างปี่ ตำบลไผ่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ คุณพ่อเป็นครูใหญ่ คุณแม่เป็นคุณครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ต่อมาได้รับมอบหมายให้สอนชั้นอนุบาลจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ญาติพี่น้องส่วนใหญ่ก็รับราชการครู ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตอนนั้นรัฐบาลมีโครงการผลิตครูชื่อ “โครงการคุรุทายาท” และพ่อก็ตั้งความหวังว่าอยากให้ลูกคนสุดท้องรับราชการครูสืบทอดปณิธานของพ่อกับแม่และวงศ์ตระกูล ชีวิตการเป็นนักศึกษาโครงการคุรุทายาท คือก้าวสำคัญของต้นทางวิชาชีพครู มีบททดสอบมากมาย ต้องผ่านการบ่มเพาะความเป็นครูอย่างเข้มข้น ทั้งวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต จิตวิญญาณและคุณลักษณะความเป็นครู หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วันที่ 1 กรกฎาคม 2539 เป็นวันเริ่มต้น “อาชีพครู” ที่โรงเรียนบ้านสมอ ซึ่งเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ในอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ โรงเรียนที่ห่างจากบ้านกว่าร้อยกิโลเมตร แต่เป็นที่จุดประกายความรักและแสงไฟศรัทธาของคำว่า “ครู” การที่ได้รับมอบหมายให้สอนนักเรียนชั้นใดวิชาใดนั้นไม่สำคัญเท่ากับการได้ทำหน้าที่ครู จำได้ว่าวันแรกที่บรรจุเข้ารับราชการเป็นวันที่มีความสุขหัวใจพองโตจากการได้เห็นแววตาแห่งความสุขของพ่อกับแม่กับความสำเร็จของลูกตามที่มุ่งหวังไว้ จากที่มีทั้งสองท่านเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งอาชีพความเป็นครู และการใช้ชีวิต หากแต่การเป็นครูในยุคสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเหมือนในปัจจุบัน การศึกษาองค์ความรู้ทางวิชาการจึงทำได้ผ่านการอ่านเป็นส่วนมาก อาทิ วารสารวิชาการ ที่จัดพิมพ์โดยกรมวิชาการและส่งมาที่โรงเรียนทุกโรง ทุกครั้งที่ได้อ่านก็จะได้แนวคิด วิธีการ และเทคนิคการสอนมาใช้กับนักเรียน โดยเฉพาะ “การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ” และ “การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน” ที่ส่วนตัวแล้วให้ความสนใจเป็นพิเศษ นำมาใช้จัดการเรียนการสอนและพัฒนาต่อยอดสู่การประกวดความเป็นเลิศทางวิชาการของนักเรียนในเวทีระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เป็นผลให้ได้รับรางวัล “ครูเกียรติยศยอดเยี่ยม (Teacher Awards) สาขาครูบูรณาการ” ปี 2544 ของจังหวัดศรีสะเกษ และได้รับเกียรติบัตร “ครูต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้รางวัลครูเกียรติยศ” จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปี 2545 ภายหลังจากการเสียชีวิตของคุณพ่อ ก็ได้ย้ายกลับมายังโรงเรียนใกล้บ้าน “โรงเรียนบ้านหนองหมี (ประชาวิทยาคาร)” อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาโทภาคปกติ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพมหานคร สาขาวิชาการประถมศึกษา และระดับปริญญาเอก สาขาวิชาการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร พอจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนสายงานมาเป็นอาจารย์สอนในระดับอุดมศึกษา ที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เพียง 6 เดือน และ ได้มาสานต่อหน้าที่ครูที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2556 จนถึงปัจจุบัน เกือบ 10 ปี ในรั้วดอกจานเสมือนบ้านหลังที่สอง ใต้ร่มเงาเทา-ชมพู บ้านหลังใหญ่ บ้านแห่งความสุขแห่งนี้ และตลอดระยะเวลากว่า 27 ปี ของการทำหน้าที่ “ครูของครู”

“ตัวตนบนหนทางแห่งความเป็นครู”

          ครูปุ๋ย เล่าต่อว่า “ใช้ใจสอนใจ” ใช้ความเป็นครูเข้าไปสัมผัส แล้วจะได้หัวใจของลูกศิษย์กลับมา ให้ทั้งครูและลูกศิษย์ได้เอื้อมมือถึงกันบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจ ครูปุ๋ยจะตระหนักถึงตัวตนหนบนทางแห่งความเป็น “ครู”  แล้วจะเปิดประตูให้ลูกศิษย์ได้เข้าถึงการเรียนรู้และเปิดใจได้ไม่ยาก และมักมักจะพูดกับลูกศิษย์เสมอ ๆ ว่า ครูเชื่อว่าเธอทำได้ แต่กว่าครูของครูจะปั้นลูกศิษย์ให้เก่งและดีได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อวิชาชีพครูไม่ได้อาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค หรือวิธีการที่มีกฎตายตัวเท่านั้น แล้วแบบไหนถึงจะผลิตครูได้ในยุคใหม่ได้ บทบาทของความเป็นครูเป็นได้มากกว่า “ผู้มอบวิชาความรู้” แต่เป็นการ “พัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม” ให้กับผู้เรียน จากความเป็นครูกับศิษย์ที่มีใจเชื่อมโยงถึงกันได้ พัฒนาจิตวิญญาณความเป็นครูให้แก่อาจารย์ผู้สอน

ทำด้วยความรักมักจะมีความสุขเสมอ

          สำหรับ “ครูปุ๋ย” การเปลี่ยนสายงานการสอนจากโรงเรียนมาสู่มหาวิทยาลัย เป็นคำถามที่ได้รับเสมอ และคำตอบที่ได้ตอบกลับไป คือ “โรงเรียน กับ มหาวิทยาลัย แตกต่างกันเพียง สถานที่ แต่สิ่งสำคัญที่ไม่แตกต่างกัน คือ “งานครู” งานครูเป็นงานของการเป็นผู้ให้ที่มีความสุขเสมอ “ครูปุ๋ย” มีครูทุกท่านในชีวิตเป็นต้นแบบ และ  แรงบันดาลใจ เป็นความโชคดีของชีวิตที่ได้รับความกรุณามีโอกาสเรียนรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากมาย  จากผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ผู้บริหารคณะ คณาจารย์ กัลยาณมิตรทุกท่าน ในเรื่องของการศึกษา เรียนรู้  องค์ความรู้สำคัญ ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาตนเอง งานการสอน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาครูและการศึกษาของทุกระดับจากการทำงานกับเครือข่ายทางวิชาการหลากหลายหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจที่มีคุณค่าและมีพลังต่อการเรียนรู้งานครูเสมอ ตลอด 9 ปี ในการทำงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้มีโอกาสสอนนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ทำให้ได้เรียนรู้ความเป็นครูทุก ๆ วัน  สิ่งที่สะท้อนคิดกับตัวเองคือ “แม้จะมีประสบการณ์ครูยาวนานแต่ไม่เคยคิดว่าตนเองเป็นครูที่ดีที่สุด เพราะยังคงต้องพัฒนาความเป็นครูต่อไปทุก ๆ วัน ตลอดชีวิต” ซึ่งมักจะบอกลูกศิษย์ที่เป็น “ครู” เสมอว่า “คนที่จะสอนความเป็นครูให้กับเราได้ดีที่สุด คือ ลูกศิษย์ของเรา” ขอให้กำลังใจครูทุก ๆ คน และขอให้เชื่อในพลังปัญญา ความรัก ความศรัทธา และช่วยกันพัฒนาวิชาชีพครูสืบไป