คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ พัฒนานวัตกรรม IoT ยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล
เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน

          คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน (Flagship Project) โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม จากการลงพื้นที่สำรวจตำบลนิคมลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี พบประเด็นสำคัญที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพน้ำในเขื่อนสิรินธร ทำให้ปลานิลเกิดอาการน็อคน้ำและตายจำนวนมาก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อเกษตรกร

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวีร์ มากดี คณบดี กล่าวว่า คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มีพันธกิจในการผลิตบัณฑิตและบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ที่มีความรู้ ทักษะ คิดเป็น ทำเป็น มีคุณภาพ และมีจริยธรรม สร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น บูรณาการองค์ความรู้จากการวิจัยและการบริการวิชาการสู่การเรียนการสอน และพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งโครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน (Flagship Project) ที่ดำเนินการอยู่ในตอนนี้เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลเขื่อนสิรินธร หลังจากทีมนักวิจัยได้ลงพื้นที่ก็พบกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลา คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพน้ำในเขื่อนสิรินธร ทำให้ปลาที่เลี้ยงตาย เกิดความเสียหาย คณะ ได้ริเริ่มโครงการวิจัย “การออกแบบและพัฒนาระบบติดตามและควบคุมการเพาะเลี้ยงปลานิลด้วยเทคโนโลยี LoRa IoT” เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายที่มีระยะทางในการสื่อสาร รับ-ส่งข้อมูลได้ในระยะไกลหลายกิโลเมตร ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และต้นทุนต่ำ จึงได้พัฒนาระบบต้นแบบนวัตกรรมที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ อาทิ

– การติดตามคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ผ่านการวัดค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO), ความเป็นกรด-ด่าง (pH) และอุณหภูมิน้ำ

– เฝ้าระวังสถานการณ์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะ

– รับการแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อเกิดความเสี่ยงจากน้ำเน่าเสียหรือสภาพอากาศแปรปรวน

– นวัตกรรมนี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจเชิงป้องกันได้อย่างทันท่วงที ลดความเสียหายจากการตายของปลานิล ส่งเสริมอัตราการเจริญเติบโตและการรอดชีวิตของปลา ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มรายได้และผลกำไร

          การลงพื้นที่เพื่อดำเนินงานปรับปรุงการติดตั้งระบบติดตามและควบคุมคุณภาพน้ำการเพาะเลี้ยงปลานิลด้วยเทคโนโลยี LoRa IoT โดยคณาจารย์และนักศึกษา คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในพื้นที่เลี้ยงปลานิลของเกษตรกรเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม ทีมนักวิจัยยังคงพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวัดค่าพารามิเตอร์คุณภาพน้ำ นอกจากนี้ คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ยังได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนสิรินธร พร้อมจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้ง การใช้งาน และการบำรุงรักษาระบบให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน

#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี