ไซดักยุง นวัตกรรมเพื่อชุมชน
ลดการแพร่ระบาดยุงลาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

          ปี 2562 เป็นปีที่น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีความห่วงใยประชาชนกับโรคภัยที่อาจมากับน้ำ หนึ่งในนั้นคือโรคไข้เลือดออกซึ่งมียุงเป็นพาหะ จึงมีนโยบายให้ประชาชนคว่ำทุกสิ่งที่จะทำให้น้ำขังเกิดลูกน้ำ กลายเป็นยุงลายได้ในอนาคต และยุงลายคือสาเหตุของโรคไข้เลือดออก

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัตน์ หารวย อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เจ้าของผลงานวิจัย “ไซดักยุง” เล่าว่า ในตอนนั้นได้สังเกตเห็นลูกน้ำอยู่ที่ก้นโอ่งมังกรหลังบ้านที่ทำการคว่ำไว้เพราะไม่ได้ใช้งาน จึงได้เทลูกน้ำออก ผ่านไป 7 วัน มาดูอีกครั้งก็มีลูกน้ำมาใหม่อีก ในปีนั้น อสม. ได้ออกตรวจเยี่ยมบ้านในชุมชนเพื่อรณรงค์กำจัดยุงลาย เราเรียนจบสาขาวิชาปรสิตวิทยา และสอนวิชาปรสิตวิทยาให้กับนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี แท้ ๆ แต่ที่บ้านมีลูกน้ำซึ่งเป็นบ่อเกิดของยุงลาย จึงเกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาค้นคว้าและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อที่จะกำจัดยุงลาย โดยเริ่มจากการสร้างกับดักยุงจากขวดน้ำพลาสติก นำเอาขวดน้ำมาตัดเอาส่วนปากขวดคว่ำลงแล้วใส่ลงไปในส่วนก้นขวด จากนั้นก็ใส่ยีสต์และน้ำตาลทรายลงไป ซึ่งยีสต์จะกินน้ำตาลทรายแล้วจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ยุงจะตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาติดกับดักในขวด พอยุงเข้ามาแล้วก็จะออกไปไม่ได้ จากนั้นเอาหัวขวดลงในพลาสติกที่ติดไว้เอาถุงพลาสติกมาครอบใส่น้ำลงไปพร้อมลูกน้ำ จากลูกน้ำจะกลายเป็นตัวโม่ง และลอกคราบกลายเป็นยุง ซึ่งวิธีนี้เป็นการขังยุงไว้ในกับดักยุงจากขวดน้ำพลาสติก จึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดเพื่อให้ได้ปริมาณที่มากขึ้น จึงปรับขนาดของกับดักโดยใช้ถังน้ำและกรวยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในการใส่น้ำ ได้ผลเกินคาดสามารถดักจับยุงได้ปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ “ไซดักยุง” เป็นนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงยื่นขอจดสิทธิบัตรในปี 2562

          ต่อมาได้ปรับปรุงพัฒนาให้มีเป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยใช้แผ่นอะคริลิคใส ซึ่งเป็นพลาสติกที่ถูกขึ้นรูปด้วยการหล่อ มีคุณสมบัติด้านความโปร่งแสง มีความทนทาน ยืดหยุ่น รับแรงกระแทกได้ดีกว่ากระจก นำมาเจาะรูตรงกลางแล้วใส่กรวยลงไปให้พอดี งานนี้ผมขอไข่ยุงที่เพาะใน LAB มาใส่ลงไป 100 ตัว กลายเป็นลูกน้ำและกลายเป็นยุง ไม่สามารถออกมาด้านนอกได้ เพียงระยะเวลา 3-5 วันก็จะตายอยู่ในนั้น

           “ไซดักยุง” เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน เป็นนวัตกรรมที่มีความปลอดภัย ไร้สารเคมี ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยง ดูแลรักษาง่ายเพียงแค่เติมน้ำลงไปเท่านั้น ปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบเป็นตุ๊กตาดินปั้น เครื่องปั้นดินเผา เพื่อเพิ่มความทันสมัยสวยงาม ทั้งยังใช้ตกแต่งบ้านเรือนได้อีกด้วย เป็น Think Different คือการคิดนอกกรอบ คิดสวนทาง แทนที่จะคว่ำสิ่งที่น้ำขังไม่ให้ยุงมาวางไข่แพร่พันธุ์ เปลี่ยนมาเป็นการหาที่อยู่ให้ยุง แต่เป็นกับดักที่ทำให้ยุงตายและหยุดการแพร่พันธุ์ที่ได้ผลดี

          จากนวัตกรรม “ไซดักยุง” ที่คิดค้นขึ้นมา ได้นำไปแจกจ่ายให้ชุมชนบ้านนาชุมคำ ตำบลนิคมลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ทดลองใช้งานในช่วงก่อนฤดูฝน เพื่อดักยุงไว้ในช่วงหน้าแล้งก่อนเข้าหน้าฝน ผลปรากฏว่าพอถึงหน้าฝน ปริมาณยุงลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเราทำการดักจับยุงตั้งแต่หน้าแล้ง การแพร่พันธุ์ของยุงลายในหน้าฝนจึงลดลง โดยใช้หลักการดักจับยุงได้จำนวนเยอะก็จะได้ลูกน้ำเยอะตามไปด้วย ซึ่งลูกน้ำจะตายในกับดัก เป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดของยุงปริมาณยุงก็จะลดลง “ไซดักยุง” มีอายุการใช้งาน 3 ปี ลดการแพร่ระบาดของยุงลาย 99 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังช่วยลดอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้อีกด้วย

          สำหรับผู้ที่สนใจ “ไซดักยุง” นวัตกรรมเพื่อชุมชน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัตน์ หารวย โทร. 09 3497 7737 หรือติดต่อได้ที่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี