คณะเกษตรฯ ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนยั่งยืน สู่แพลตฟอร์มออนไลน์
ภายใต้แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
คณะเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และการผลักดันของ อาจารย์ประภัสสร สมบัติศรี คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนยั่งยืน สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งดำเนินโครงการโดยกลุ่มคณะผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ดำเนินการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนยั่งยืน สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี
1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรสว่างวีระวงศ์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาเป็นหลัก เช่น ปลานิลแดดเดียว แจ่วบอง น้ำพริกปลาแห้ง เป็นต้น มีจุดแข็งด้านสถานที่ผลิตที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างไรก็ตามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังขาดความรู้และทักษะในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการส่งเสริมการขาย นอกจากนี้ยังพบปัญหา
1) ด้านการสื่อสารสร้างการรับรู้ตราสินค้าให้กลุ่มผู้บริโภคจังหวัดอื่น ๆ
2) รูปแบบของถุงบรรจุภัณฑ์ ฉลากของผลิตภัณฑ์ยังไม่โดดเด่น
3) ผู้ประกอบการยังขาดการสร้างเนื้อหาทางการตลาดและการสื่อสารทางการตลาด ของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายจากช่องทางการตลาดออนไลน์
เพื่อเป็นการส่งเสริมและช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรสว่างวีระวงศ์ จึงควรมีการส่งเสริมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้นให้เหมาะกับการส่งขายทางออนไลน์ และกำหนดบรรจุภัณฑ์ให้มีความสะดวกและง่ายต่อการบริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้
2. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาบ้านด่านใหม่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี (แบรนด์ปลาส้มครูหยอย) มีประธานกลุ่มฯ คือ นางวายุรี บุญไทย มีสมาชิก จำนวน 10 คน มีจุดแข็งด้านสถานที่ผลิตที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผลิตภัณฑ์ปลาส้มได้รับการรับรองมาตรฐานเครื่องหมาย อย.จึงทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถจำหน่ายในร้านค้าทั่วไปและห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ปัจจุบันมีปริมาณการผลิตปลาส้มของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประมาณ 40,000 กิโลกรัมต่อปี และมีมูลค่าการจำหน่ายปลาส้มประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
ดังนั้นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงมีความต้องการขยายตลาดปลาส้ม สู่ผู้บริโภคอื่น ๆ ผ่านทางออนไลน์มากขึ้นแต่พบปัญหาของการดำเนินการ เนื่องจาก
1) ลักษณะของการบรรจุ และอุณหภูมิของการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ปลาส้ม ยังไม่มีมาตรฐานทั้งรูปแบบของถุงบรรจุภัณฑ์ วิธีการเก็บรักษา ฉลากของผลิตภัณฑ์ ฉลากที่บ่งบอกถึงคุณค่าทางอาหาร
2) กลุ่มผู้บริโภคจังหวัดอื่น ๆ และภาคอื่น ๆ ยังไม่รู้จักตรา สินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านด่านใหม่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี 3) ผลิตภัณฑ์ปลาส้มยังขาดความโดดเด่น และขาดความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ปลาส้มของคู่แข่งขันรายอื่น ๆ 4) ผู้ประกอบการยังขาดการสร้างเนื้อหาทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ปลาส้ม และการสื่อสารทางการตลาด เพื่อเพิ่มยอดขายจากช่องทางการตลาดออนไลน์
3. หมูยอเยาวภา เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายหมูยอ ซึ่งมียอดขายออนไลน์รายใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี โดดเด่นในเรื่องของการสร้างคอนเท้นต์เพื่อจำหน่ายสินค้าหมูยอ มีผู้ติดตามกว่า 5 แสนคน ตั้งอยู่เลขที่ 10/4 หมู่ 9 ถนนเลี่ยงเมืองอุบล-พิบูล ตำบลคำขวาง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี อย่างไรก็ตามหมูยอเป็นอาหารที่จัดเป็นอาหารสด ซึ่งต้องขนส่งโดยใช้รถห้องเย็น ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักมาก จึงทำให้เสียค่าขนส่งและอาจจะเสี่ยงต่อการเสื่อมเสียคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นหมูยอเยาวภาจึงต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งต่อยอดมากจากผลิตภัณฑ์หมูยอเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น สามารถรับประทานเป็นอาหารว่างได้ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากชนิดใหม่ในจังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้นคณะเกษตรศาสตร์จึงเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงได้ให้ผู้ประกอบการหมูยอเยาวภาได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวนี้เพื่อให้เกิดเครือข่ายแหล่งในการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนอื่น ๆ และจำหน่ายสินค้าอัตลักษณ์จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือสั่งเป็นกระเช้าของขวัญช่วงเทศกาลสำคัญ ติดต่อสอบถามได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โทร. 0 4535 2000 ต่อ 1600
#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี