คณะมนุษยศาสตร์ ฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน “ผ้าแสงแรก” และ “กระยาสารทหมากบก”
เสริมศักยภาพชุมชน Soft Power เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์


คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนบนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น Soft Power พัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน “ผ้าแสงแรก” และ “กระยาสารทหมากบก” เสริมสร้างองค์ความรู้ พัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน บ้านซะซอม ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีทุนทางสังคมด้านสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน มีจุดขายคือการเป็นสถานที่ได้เห็นพระอาทิตย์ก่อนใครในสยาม (แสงแรก) มีโฮมสเตย์ที่ได้รับรางวัลการรับรองมาตรฐาน และมีผ้าทอมือซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ผ้าแสงแรก” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานันท์ ทาปทา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า คณะได้ดำเนินโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนบนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น Soft Power ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลชุมชน (อัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น) แบบมีส่วนร่วม ได้ทราบถึงอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของบ้านซะซอม การเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีโฮมสเตย์ มีผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงคือ ผ้าทอแสงแรกแห่งสยาม มีสมุนไพรและมีต้นกระบก เม็ดกระบก ซึ่งได้ชื่อว่าอัลมอนด์อีสาน จึงหาแนวทางที่จะสามารถนำอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยการนำองค์ความรู้บูรณาการร่วมกับชุมชนนำฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น Soft Power มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่
๑. ผลิตภัณฑ์กระยาสารทหมากบก ด้วยขนมกระยาสารท เป็นขนมไทยที่ทุกภูมิภาครู้จักและมีประเพณีการทำบุญวันสารทไทยอยู่แล้ว เมื่อลงไปศึกษาชุมชนพบว่าที่บ้านซะซอมมีต้นกระบก ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเม็ดอัลมอนด์อีสาน ประกอบกับกระบกมีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก เช่น ช่วยบำรุงเส้นเอ็น ช่วยบำรุงไต บำรุงไขข้อในกระดูก และช่วยเจริญอาหาร เป็นต้น จึงได้นำเม็ดกระบกมาเป็นส่วนประกอบของกระยาสารท เป็นกระยาสารทเม็ดกระบก เป็นอัตลักษณ์ของบ้านซะซอมและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เม็ดกระบกด้วย
๒. ผลิตภัณฑ์ย่ามแสงแรกแห่งสยาม เดิมบ้านซะซอมมีชื่อเสียงจากผ้าทอสีธรรมชาติและได้ชื่อว่าเป็นผ้าทอสีธรรมชาติแสงแรกแห่งสยาม เพราะโขงเจียมเป็นพื้นที่ที่ได้สัมผัสแสงพระอาทิตย์ก่อนพื้นที่อื่น จึงได้ชื่อว่า “แสงแรกแห่งสยาม” ที่ผ่านมาจะขายผ้าเป็นผืน ซึ่งมีราคาสูงเพราะมีกระบวนการที่ประณีต ย้อมสีธรรมชาติ ส่งผลให้มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ทางคณะฯ เข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ย่ามแสงแรกแห่งสยาม โดยนำผ้าทอสีธรรมชาติแสงแรกแห่งสยามของบ้านซะซอม มาตัดเป็นย่ามและ เพิ่มมูลค่าโดยการนำสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่นของบ้านซะซอมซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีโฮมสเตย์อยู่แล้ว เช่น โหง่นจานบิน โหง่นหัวหมู โหง่นหินสกู๊ตเตอร์ โหง่นแต้ม เสาเฉลียง และหินหมวกลายแทง เป็นต้น มาปักลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับย่ามแสงแรกแห่งสยาม


หลังจากที่ได้ผลิตภัณฑ์ “กระยาสารทหมากบก” และ “ย่ามแสงแรก” ที่เป็นการนำฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น Soft Power มาพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว คณะทำงานโครงการได้จัดอบรมเรื่องการจัดจำหน่ายให้กับชุมชน ทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้ชุมชนสามารถจำหน่ายและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ ฯ เป็นช่วงเวลาที่จังหวัดอุบลราชธานีจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาประจำปี บ้านซะซอมจึงได้จัดบูธจำหน่ายสินค้าในงานดังกล่าว ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผลิตที่ยังไม่เคยมีมาก่อน
“กระยาสารทหมากบก” ยังไม่เคยมีการนำเม็ดกระบกมาเป็นส่วนประกอบ และคนส่วนใหญ่ชอบกินหมากบกอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมากินแบบคั่วจะได้รสชาติมันอย่างเดียว แต่เมื่อนำมาเป็นส่วนประกอบในกระยาสารทจึงเป็นแรงจูงใจในการซื้อได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ในงานดังกล่าวสามารถขายกระยาสารทหมากบกได้ ส่งผลให้ชุมชนยิ้มได้ เพราะมีกระแสตอบรับจากผู้บริโภคดี
“ย่ามแสงแรก” ด้วยความที่ย่ามมีหลายขนาด ขนาดจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ มีสีสันสวยงาม สะดุดตา ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานแห่เทียนเป็นอย่างดี


จากการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ดำเนินงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนบนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น Soft Power สร้างรอยยิ้มให้กับชุมชน เพราะมองเห็นช่องทางและโอกาสของผลิตภัณฑ์ ที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดและจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนให้เป็นชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี