ชีวิตที่ไม่มีคำว่าปิดเทอม! เด็กหนุ่มจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ โตมากับยายที่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ ทำทุกอย่างที่ได้เงินมาเลี้ยงดูหลานชายเพียงคนเดียว
มีฝันอยากเป็นครู ได้รับทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ม.ราชภัฏอุบล ฯ แต่ก็ต้องทำงานหารายได้ส่งตัวเองและเลี้ยงยายที่อายุมากแล้ว

          สำหรับช่วงปิดเทอมใหญ่ที่มีระยะเวลาหลายเดือน หลายคนคงคิดหากิจกรรมสนุก ๆ ทำในช่วงปิดเทอม และอาจเป็นช่วงเวลาสำหรับการพักผ่อนหลังจากที่ผ่านการเรียนมาอย่างหนักหน่วง บางคนใช้เวลาทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ เช่น ทำอาหาร ทำขนม ฝึกเต้น ทำคอนเทนต์ บางคนก็สนุกไปกับกิจกรรมที่ตัวเองชอบ อย่างการอ่านหนังสือ เล่นดนตรี วาดภาพ เล่นเกม ท่องโซเชียล ท่องเที่ยว แต่สำหรับ “แบงค์” ว่าที่ครูรัก(ษ์)ถิ่น เด็กหนุ่มผู้พลัดถิ่นฐานบ้านเกิดจากจังหวัดชัยภูมิ มาตามความใฝ่ฝันที่อยากเป็นครู ได้รับโอกาสเข้าเรียนที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น แต่ชีวิตก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะความยากจน เลยต้องเรียนและทำงานควบคู่กันไปเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

          “แบงค์” หรือ นายณัฐวุฒิ  สนิทวงศ์ เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ครอบครัวพ่อแม่แยกทางกันต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ตนเองจึงอาศัยอยู่กับยายที่เป็นคนส่งเสียเลี้ยงดู ชีวิตครอบครัวค่อนข้างลำบาก ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำด้วยการรับจ้างเก็บพริก ปลูกมัน ปลูกอ้อย เกี่ยวข้าว เรียกว่าทำทุกอย่างที่ได้เงินมาเลี้ยงดูหลานชายเพียงคนเดียว ส่วนแบงค์เองก็ดำเนินชีวิตเรียนด้วยทำงานไปด้วยมาตั้งแต่เด็ก พอหลังจากเลิกเรียนหรือวันหยุดก็จะไปรับจ้างทำงานกับยายบ้าง รับจ้างดำนา เกี่ยวหญ้าให้วัว แบกกระสอบข้าว กระสอบปุ๋ย ไม่ว่าจะงานเล็กหรืองานใหญ่ในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียงก็รับทำงานทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวอีกทาง

          “แบงค์” เล่าให้ฟังว่า ผมเกิดมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ แต่ในความโชคร้ายก็ยังโชคดีที่มียายคอยเลี้ยงดูและอยู่เคียงข้างทุกสถานการณ์ แม้ในวันที่สถานะครอบครัวไม่สู้ดีนัก แต่ก็ทำให้ผมมีกำลังใจและแรงผลักดันที่อยากจะสร้างชีวิตที่ดี ถ้าไม่มียายผมคงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือจนจบมัธยม และอีกหนึ่งความโชคดีผมได้รับการคัดเลือกเข้ารับทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จากการที่มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาค (กสศ.) ที่สร้างโอกาสสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชนบ้านเกิด ซึ่งคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านของผม ถ้าไม่ได้รับโอกาสในวันนั้น ผมคงไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในวันนี้ ทำให้ผมกลายเป็นคนโชคดีและเติมเต็มความฝันที่อยากจะเป็นครู “ผมอยากขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มาก ๆ ครับ”

          ผมมีความใฝ่ฝันที่อยากเป็น “ครู” มาก ๆ เพราะชอบในการสร้างคน สอนคน บ่มเพาะคนให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ และที่สำคัญการได้บรรจุรับราชการครูก็เป็นความมั่นคงในชีวิตของผมและครอบครัว เกือบ 4 ปีที่มาทำตามฝันที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ก็อย่างที่กล่าวไว้ครับ “ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” ถึงแม้ผมจะโชคดีได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น แต่ในช่วงระหว่างเรียนก็ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ผมต้องเรียนและทำงานไปด้วยเพื่อหารายได้ส่งตัวเองและเลี้ยงยายที่อายุมากแล้ว ไม่อยากให้ท่านลำบาก ในช่วงกลางวันผมก็ใช้ชีวิตการเป็นนักศึกษาปกติ เรียนหนังสือ หากพอมีเวลาก็จะทำงานส่งอาจารย์ หรือทำงานกลุ่มกับเพื่อน ๆ ส่วนในช่วงก่อนสอบก็จะแบ่งเวลาในช่วงกลางคืนและเวลาว่างระหว่างเรียนในการอ่านหนังสือ ทบทวนตำราก่อนสอบ ตอนนี้ผมทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านชาบูชิ โดยใช้เวลาหลังจากเลิกเรียน วันหยุด และช่วงปิดเทอมก็จะทำเต็มเวลา เพื่อหารายได้ในการเรียนหนังสือและส่งให้ยาย ที่ตอนนี้ท่านอายุ 85 ปี ที่มีเพียงรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น หากเปรียบเป็นระยะทางแล้วตอนนี้ผมเดินทางมาไกลมาก อีกเพียงแค่ 1 ปี ก็จะเรียนจบ ซึ่งจะได้บรรจุรับราชการ “ครู” ตามความใฝ่ฝันที่ตั้งไว้ ซึ่งผมได้สัญญากับตัวเองและยายเอาไว้ว่า ถ้าเข้ารับราชการแล้ว “ต่อไปผมจะไม่ให้ยายต้องลำบากเลย จะดูแลยายให้ดีที่สุด และจะทำให้ยายมีความสุขมาก ๆ เพราะความสุขของยายก็คือความสุขของผมด้วยครับ”

          เส้นทางฝันและความสำเร็จของแต่ละคนจะเหมือนหรือแตกต่างกัน แต่ทางสู่ความสำเร็จเราสามารถเรียนรู้แนวทาง วิธีการจากคนที่ประสบความสำเร็จ นำมาปรับใช้เปลี่ยนให้เข้ากับเราเป็นสไตล์ของเราได้ “ทุกบทเรียน คือ ประสบการณ์” ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในบางครั้งอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าใจสู้เสียอย่าง ไม่ว่าอะไรก็ต้องผ่านไปได้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” เปิดเปิดกว้างสำหรับทุกคน

#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี