มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เปิดศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา
ขยายพื้นที่ต้นแบบ สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยสำนักบริการวิชาการชุมชน เปิดศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ณ บ้านแมด ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี มี รองศาสตราจารย์สนธยา เกาะสมบัติ รองอธิการบดี เป็นประธานเปิดศูนย์ดังกล่าว มี นายดนตรี เจริญสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแมด และคณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรสำนักบริการวิชาการชุมชนร่วมกิจกรรม พร้อมกันนี้ยังมีคณะศึกษาดูงานจากองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมดแดง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี เข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้การดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เพื่อนำกลับไปพัฒนาในพื้นที่ของตนเองต่อไป
อาจารย์อัสนี อำนวย ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการชุมชน กล่าวว่า โครงการน้อมนำศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นโดยสำนักบริการวิชาการชุมชน ภายใต้ยุทธศาสตร์และพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และสำนักบริการวิชาการชุมชน ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น บริการวิชาการ พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีและเหมาะสมภายใต้บริบทของการเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน คือ การสำรวจพื้นที่เป้าหมาย ด้านสังคม วัฒนธรรมและทรัพยากรท้องถิ่น พบว่า ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริกเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรหลากหลาย สำนักบริการวิชาการชุมชน จึงได้ประสานความร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่นร่วมกันวางแผนและจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพ ตลอดระยะเวลา ๓ ปี โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งต้นน้ำ คือการทำการเกษตร ประมง และเลี้ยงสัตว์ กลางน้ำ คือ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และปลายน้ำ คือ กระบวนการขายและจำหน่ายเพื่อให้เกิดรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น อาทิ การทำเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลา ขนมไทย เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ เป็นต้น ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแมด ได้คัดเลือก ทุ่งแสนเกษม เป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของชุมชน ทั้งเกษตรกร เยาวชน ตลอดจนผู้ที่สนใจ เข้ามาเรียนรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชาฯ และจะจัดทำโครงการฝึกทักษะอาชีพตามฐานการเรียนรู้ที่ได้จัดทำไว้ บูรณาการองค์ความรู้ งานวิจัย และมุ่งเน้นระบบการจัดการขยะครบวงจรอีกด้วย มีบริเวณแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้ชุมชนเกิดรายได้ สร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ด้าน นายเลิศฤทธิ์ แสนมะฮุง ผู้ประสานงานประจำศูนย์การเรียนรู้ฯ เล่าว่า ความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับสำนักบริการวิชาการชุมชน ได้จัดทำฐานการเรียนรู้ ทั้งหมด ๕ ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ไม้ผล ปศุสัตว์ เลี้ยงปลา และการจัดการขยะครบวงจร เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านทรัพยากรท้องถิ่น และการจัดการพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับผู้สนใจตลอดจนเยาวชนในพื้นที่ ทั้งนี้สำนักบริการวิชาการชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแมดได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรระยะสั้นในการฝึกอบรมทักษะอาชีพให้แก่ผู้ที่สนใจ ได้แก่ การฝึกอบรมจัดทำขนมไทย วุ้นมะพร้าวนมสด และสลัดโรลและน้ำสลัด โดยมีนางภาวดี แสนมะฮุง เป็นวิทยากรผู้ช่วยและจะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้นี้สู่ชุมชนและผู้ที่สนใจต่อไป
#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี