ประชุมวิชาการ “จากอัตลักษณ์อุบลราชธานี สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์”
พลัง Soft power เพิ่มมูลค่าและรายได้ให้ชุมชน

          จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้รับการขนานนามว่า เป็นเมืองนักปราชญ์ ทั้งปราชญ์ที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาส เป็นเมืองแห่งหมอลำ ซึ่งมีศิลปินแห่งชาติด้านศิลปะการแสดง (หมอลำ) ๖ คน มีประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เป็นเมืองที่มีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ซิ่นทิวมุกจกดาว ผ้ากาบบัว ที่มีศิลปินแห่งชาติถึง ๒ คน เป็นเมืองของคนดี โดยมีอนุสาวรีย์แห่งความดีเป็นที่ประจักษ์

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปิยา ทาปทา ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากจะมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ยังได้รับการยกย่องว่าเป็น “เมือง ๔ แสง” คือแสงแรก ชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในสยามที่ผาชะนะได แสงที่สองคือ แสงธรรม ต้นกำเนิดของพระอริยสงฆ์ ทั้งหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา แสงที่สามคือ แสงเทียน มีประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาที่เก่าแก่มากกว่าร้อยปี เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่รู้จักไปทั่วโลกและเป็น Soft power ของอุบลราชธานี แสงที่สี่คือ แสงโซลาร์เซลล์จุดกำเนิดพลังงานสะอาดโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เขื่อนสิรินธร นอกจากนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะปลาจากแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล มีอาหารที่รู้จักทั่วไปที่มาเยือนอุบลราชธานี คือ ก๋วยจั๊บ หมูยอ เป็นต้น

          สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จึงกำหนดจัดกิจกรรมประชุมวิชาการ “จากอัตลักษณ์อุบลราชธานี สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในอัตลักษณ์จังหวัดอุบลราชธานี สามารถนำเอาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไปขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมทั้งอนุรักษ์และเสริมสร้างอัตลักษณ์อุบลราชธานี สู่พลัง Soft power เพิ่มมูลค่าและรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการประชุมวิชาการในครั้งนี้จัดให้มีการบรรยายพิเศษ ๔ หัวข้อหลัก โดยวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ ประกอบด้วย

          หัวข้อ “อัตลักษณ์จังหวัดอุบลราชธานี” โดย รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ ประธานกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม

          หัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาอัตลักษณ์อุบลราชธานี สู่การท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี” โดย นางสาวพิมพ์ชนก พิริยะกิจไพบูลย์ ประธานผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี

          หัวข้อ “จากอัตลักษณ์ผ้าอุบลราชธานี สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดย นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี

          หัวข้อ “อัตลักษณ์เทียนอุบลราชธานี สู่งานเทียนสร้างสรรค์ร่วมสมัย” โดย นายวิศรุต ภาดี หัวหน้าช่างเทียนวัดทุ่งศรีเมือง

          ผู้สนใจร่วมกิจกรรมประชุมวิชาการ “จากอัตลักษณ์อุบลราชธานี สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ฟรี! วันพุธที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. ณ ห้องบัวทิพย์ ๓ ชั้น ๔ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ๐ ๔๕๓๕ ๒๐๐๐ ต่อ ๑๐๔๐, ๑๐๓๔

#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี