คณะมนุษยศาสตร์ ฯ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสานตะกร้าพลาสติกบ้านโนนแดง
ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ชุมชน
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีปณิธาน “มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” และเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ของนักศึกษา บุคลากร และชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานันท์ ทาปทา คณบดี มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย เลียงจินดาถาวร รองคณบดี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แม้นพยัคฆ์ ผู้ช่วยคณบดี ดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ในพื้นที่ตำบลดอนมดแดง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี โดยการลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเป้าหมายอย่างจริงจัง ซึ่งได้หารือกับผู้นำชุมชน อำเภอดอนมดแดง เกี่ยวกับข้อมูลอาชีพและโอกาสสร้างรายได้ของชุมชนว่าตำบลใดที่มีประชากรที่ขาดโอกาสและมีฐานะความยากจน เพราะความยากจนอาจนำมาซึ่งปัญหาหลายประการ ทั้งปัญหาอาชญากรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาครอบครัว เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย เลียงจินดาถาวร รองคณบดี กล่าวว่า คณะมนุษยศาสตร์ ฯ ได้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อแก้ที่สาเหตุของปัญหาสังคม และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พื้นที่ตำบลดอนมดแดงถูกเลือกเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ ฯ เนื่องจากคนในชุมชนมีความลำบากมากว่าตำบลอื่น จึงลงพื้นที่ศึกษาบริบทชุมชน จัดเวทีประชาคมสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ค้นหาศักยภาพและความต้องการ ซึ่งทุกคนมีมติร่วมกันว่า “ต้องการความรู้และทักษะการสานตะกร้าพลาสติก” ซึ่งเคยเข้ารับการอบรมมาแล้วแต่ยังไม่มีความชำนาญ จึงได้เริ่มจากการเสริมสร้างความรู้เพิ่มเติม ศึกษาดูงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเรียนรู้จากกลุ่มที่สำเร็จ ศึกษาดูงานที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสว่างวีระวงษ์ และเชิญมาเป็นวิทยากรอบรมแบบเข้มข้นให้กับคนในชุมชน เพื่อคัดกรองผู้ที่มีความสนใจ จำนวน ๒๕ คน เข้ารับการอบรมครั้งที่ ๒ เพื่อเพิ่มทักษะและความชำนาญสามารถนำไปต่อยอดได้ จากนั้นเริ่มออกร้านจำหน่ายตามงานเทศกาลต่าง ๆ ในอำเภอดอนมดแดง พร้อมทั้งจัดอบรมการวิเคราะห์ต้นทุนกำไร การตลาดออนไลน์ สร้างเพจจำหน่ายสินค้า
นางศิริกาญจน์ เผ่าดวงดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๑ ประธานกลุ่มสานตะกร้าพลาสติกบ้านโนนแดง หมู่ ๑๑ ตำบลดอนมดแดง เล่าว่า การจักสานเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นของใช้ในครัวเรือน เช่น ตะกร้า หวด สุ่ม ข้องใส่ปลา ในปี ๒๕๖๓ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ค้นหาชุมชนที่ต้องการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน ในตอนนั้นยังไม่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มสานตะกร้าพลาสติกบ้านโนนแดง ส่วนใหญ่ก็มีการสานตะกร้าหรือเครื่องจักสานอื่นเพื่อใช้งานในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชนบ้าง ซึ่งคนในชุมชนได้มีความเห็นร่วมกันว่าอยากพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้อีกทาง และก็ได้รับโอกาสจากคณะมนุษยศาสตร์ ฯ ในการฝึกอบรม ปีแรกก็สานตะกร้าพลาสติกลวดลายพื้นฐานธรรมดา ในปีที่สองก็เพิ่มลวดลายให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อขยายตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ปัจจุบันมีสมาชิกประจำกลุ่ม ๒๕ คน ที่เป็นกำลังหลักในการผลิตสินค้านำส่งจำหน่ายที่ศูนย์จำหน่ายสินค้า OTOP มุกดาหาร และได้มีการพัฒนาทักษะการสานตะกร้าลวดลายที่มีความยากและตามความต้องการของลูกค้า พอได้รับโจทย์มาสมาชิกในกลุ่มก็จะช่วยกันคิด วิเคราะห์ และแกะลวดลายตามแบบที่ได้รับ ล่าสุดก็จะเป็นลายดาวที่สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศ อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย จากเดิมที่สานตะกร้าไว้ใช้และจำหน่ายเพียงแค่ในชุมชนเป็นอาชีพเสริม แต่ปัจจุบันมีการสั่งผลิตสินค้าตลอดทั้งปี ส่งผลให้สมาชิกของกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ ๗,๐๐๐-๑๒,๐๐๐ บาท โดยการผลักดันของคณะมนุษยศาสตร์ ฯ อย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่มีเทศกาลงานออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ แม้นพยัคฆ์ ผู้ช่วยคณบดี ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะมนุษยศาสตร์ ฯ ได้จัดกิจกรรมและผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประสบการณ์ เพิ่มทักษะและต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยนำสมาชิกกลุ่มสานตะกร้าพลาสติกบ้านโนนแดง หมู่๑๑ ตำบลดอนมดแดง ศึกษาดูงานที่ศูนย์จำหน่ายสินค้า OTOP อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร แหล่งกำเนิดตะกร้าพลาสติก หวังขยายตลาดเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ จากนั้นได้เชิญมาเป็นวิทยากรยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ จนนำมาสู่การรับซื้อสินค้าและส่งออกไปหลายประเทศ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ส่งเสริมกลุ่มตั้งแต่ต้นน้ำ คือการค้นหาศักยภาพ อบรมพัฒนาทักษะ ส่วนกลางน้ำก็พัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ รวมถึงการคิดวิเคราะห์ต้นทุนกำไรการตั้งราคา และปลายน้ำคือการตลาดออนไลน์และการเชื่อมพ่อค้าคนกลางสู่ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ ทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น ปัจจุบันยกระดับกลุ่มเป็นศูนย์การเรียนรู้ และรับเป็นวิทยากรส่งเสริมอาชีพแก้ไขปัญหาความยากจน อบรมขยายผลให้กับผู้ที่สนใจทั้งในอำเภอดอนมดแดงและต่างอำเภออย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้สนใจสินค้าผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของชุมชน เข้าดูได้ที่เพจ กลุ่มสานตะกร้าพลาสติกบ้านโนนแดง ม.๑๑ ดอนมดแดง https://www.facebook.com/profile.php?id=100082897764433
#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี