สวก. จับมือ ม.ราชภัฏอุบล ฯ ยกระดับนวัตกรรมอาหารจากโคขุนเชิงพาณิชย์
สู่ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน

          ประเทศไทยนอกจากจะมีพื้นที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมแล้ว ยังเป็นพื้นที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงโคเนื้อ ที่ไม่เป็นสองรองใครในภูมิภาคและในทวีปเอเชีย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาครัฐมีนโยบายผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตโคเนื้อไทย เป็นสินค้าอุตสาหกรรมระดับพรีเมียม ทั้งการแปรรูป พัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน รูปแบบ และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแบบครบวงจร ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในประเทศ

          สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร มีธุรกิจบริการหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจแปรรูปโคขุน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์โดยเน้นคุณภาพ ปัจจุบันมีสมาชิกผู้เลี้ยงโคขุนจำนวน ๑,๐๓๐ ราย จำนวนโคที่ขึ้นทะเบียนขุน ๔,๒๐๐ ตัว ซึ่งนับว่าจำนวนการเลี้ยงโคขุนของสหกรณ์มีปริมาณสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเชื่อมโยงธุรกิจกับสหกรณ์เครือข่ายผู้เลี้ยงโคขุนอีก ๒๕ แห่งในจังหวัด มีจำนวนผู้เลี้ยงโคขุน ๒,๔๕๐ ราย จำนวน ๑๔,๐๐๐ ตัว

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.สุรีรัตน์ บุตรพรหม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กล่าวว่า สำนักงานการพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ สนับสนุนทุนวิจัย โดยความร่วมมือของสหกรณ์ ฯ หนองสูง เพื่อนำผลพลอยได้จากการชำแหละเนื้อโคที่มีมูลค่าต่ำ เช่น หนัง หาง เนื้อเศษ มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมอาหารจากโคขุนให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพพร้อมจำหน่าย ภายใต้โครงการบริหารจัดการเพื่อพัฒนา RAINS for Thailand Food Valley (ภาคอีสานตอนล่าง) โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เริ่มจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับรองมาตรฐานอาหาร เลขสารบบอหาร เครื่องหมายรับรองอาหาร HALAL จำหน่ายในร้านค้าปลีกค้าส่งในประเทศ ทำให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับสหกรณ์ โดยกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมที่ยังไม่ได้รับรองมาตรฐาน จากการตลาดและสอบถามข้อมูลจากผู้ผลิตและบริโภคพร้อมทดสอบตลาด สู่การพัฒนากระบวนการผลิตอาหารตามมาตรฐาน อย. เพื่อให้ได้เลขสารบบ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน

          ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติพร สุพรรณผิว หัวหน้าโครงการวิจัย ฯ กว่าเพิ่มเติมว่า ที่เลือกสหกรณ์การเกษตรหนองสูง เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการวิจัยเพราะว่ามีความพร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะโคขุนที่เป็นวัตถุดิบหลักที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาเป็นโจทย์วิจัย โดยนำผลพลอยได้จากการชำแหละเนื้อโคที่มีมูลค่าต่ำมาพัฒนาและยกระดับเป็นนวัตกรรมอาหารจากโคขุนเชิงพาณิชย์สู่ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน เป็น ๔ ผลิตภัณฑ์  

          ๑. แคบโคขุน ที่มีความกรอบ อร่อย อบพองแทนการทอด โปรตีนสูง ดีต่อสุขภาพ เก็บรักษาได้นานโดยไม่เหม็นหืน

๒. ซุปหางวัว เก็บได้นานถึง 2 ปี ในอุณหภูมิห้อง พกพาสะดวก ฉีกซองอุ่นรับประทานได้เลย

๓. ผงปรุงรสโคขุน เป็นสูตรลดโซเดียม ทำจากเนื้อโคขุนแท้ รสชาติเข้มข้น ปรุงอาหารได้หลากหลาย

๔. สเต็กเนื้อวัวบดโคขุน ทำจากเนื้อโคขุนแท้ อุ่นในไมโครเวฟเพียง ๒ นาที ก็พร้อมทาน

          วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.สุรีรัตน์ บุตรพรหม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พร้อมด้วยคณาจารย์นักวิจัย ร่วมกับ ผู้ประกอบการร้านอาหารในจังหวัดอุบลราชธานี จัดกิจกรรมเสวนา “การยกระดับนวัตกรรมอาหารจากโคขุนเชิงพาณิชย์สู่ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน” ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์กิตติพร สุพรรณผิว หัวหน้าโครงการวิจัย ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์จากการดำเนินโครงการวิจัยในครั้งนี้ คือ แคบโคขุน ผงปรุงรสโคขุน ซุปหางวัว และสเต็กเนื้อบดโคขุน ซึ่งทั้ง ๔ ผลิตภัณฑ์ เกิดจากโครงการการบริหารจัดการเพื่อพัฒนา RAINS for Thailand Food Valley (ภาคอีสานตอนล่าง) โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี พร้อมกันนี้ได้ทดลองชิมรสชาติอาหารทั้ง ๔ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ

          สำหรับผลิตภัณฑ์แคบโคขุน ซุปหางวัว สเต็กเนื้อวัวบดโคขุน และผงปรุงรสโคขุน มีจำหน่ายที่สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และกำลังจะขยายตลาดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กว้างขึ้น

#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี