เปิดทำเนียบ ศิลปินแห่งชาติ ดินแดนแห่งนักปราชญ์ เมืองอุบลราชธานี

          วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะหลายสาขา ทั้งทางด้านประติมากรรม ได้ทรงร่วมกับช่างประติมากรรมฝีมือเยี่ยมในสมัยนั้นแกะสลักบานประตูไม้พระวิหาร วัดสุทัศน์เทพวรารามเป็นลายเครือเถารูปป่าหิมพานต์นับเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยม

          ด้านวรรณกรรม ถือว่าทรงเป็นกวีเอกแห่งแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้จำนวนมากมายหลายเรื่อง เช่น อิเหนา ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำ นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกไว้ถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในด้านวรรณกรรม ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวรรณกรรม

          วันศิลปินแห่งชาติ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2527 ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์ในขณะนั้นว่า ต้องยกย่อง เชิดชู สนับสนุน ส่งเสริม รวมถึงช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันทรงคุณค่า ศิลปินแห่งชาติได้กำหนดไว้ 3 สาขา ได้แก่

          1. สาขาทัศนศิลป์ (Visual Art) หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติ หรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์ และมีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยสามารถแบ่ง ได้เป็น 8 สาขา ได้แก่ จิตรกรรมประติมากรรม  ภาพพิมพ์  ภาพพิมพ์และสื่อประสม  ภาพถ่าย ภาพถ่ายศิลปะ สื่อประสม สถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) สถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) สถาปัตยกรรมไทย  ประณีตศิลป์ ประณีตศิลป์-แกะสลัก ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ  ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น ออกแบบอุตสาหกรรม
          2. สาขาศิลปะการแสดง (Performing Art) หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่ การดนตรี นาฏศิลป์ และภาพยนตร์และละคร
          3. สาขาวรรณศิลป์ (Literature) หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวกับงานประพันธ์ต่าง ๆ ได้แก่ กวีนิพนธ์ บทละคร เรื่องสั้น และนวนิยาย

 

คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญต่อการพิจารณาเชิดชูเกียรติบุคคลด้านศิลปะ 8 ประการ ได้แก่

          1. มีสัญชาติไทย
          2. มีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
          3. เป็นผู้มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับ ของวงการศิลปะในสาขานั้น
          4. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ
          5. เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศ ยกย่องเชิดชูเกียรติ
          6. เป็นผู้ทุ่มเท อุทิศตนเพื่องานศิลปะ และมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
          7. ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย
          8. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

 

สิทธิประโยชน์ และตอบแทนที่ได้รับจากทางราชการ ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนจากกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม ได้แก่

          1. ค่าตอบแทนรายเดือนตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ 25,000 บาทต่อเดือน
          2. ค่ารักษาพยาบาลว่าด้วยเงินสวัสดิการ (เว้นแต่มีสิทธิ์เบิกจากหน่วยงานอื่นโดยให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีงบประมาณ)
          3. ค่าช่วยเหลือเมื่อประสบภัยเท่าที่เสียหายจริง ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง
          4. ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง
          5. เงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท
          6. เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 150,000 บาท

          มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดเก็บและรวบรวมฐานข้อมูลศิลปินแห่งชาติชาวจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 16 ท่าน เพื่อยกย่อง เชิดชู สนับสนุน ส่งเสริม ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันทรงคุณค่า จนสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้กับจังหวัด และคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ

          ศิลปินแห่งชาติ https://aac.ubru.ac.th/ub_artist

1. นายคำหมา แสงงาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ปั้นแกะสลัก) ปี 2529  

          นายคำหมา แสงงาม หรือ “ครูคำหมา” หรือ “จารย์ครูหมา” เป็นปรมาจารย์ทางช่างศิลป์ผู้มีฝีมือยอดเยี่ยม เป็นช่างคนเดียวของภาคอีสานที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่มีความสามารถในการทำนกหัสดีลิงค์ได้อย่างสวยงาม เป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านช่างศิลป์หลายสาขา มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำเอาแม่แบบของลายไทยมาใช้กับการแกะสลักลายเทียนให้ดูสวยงาม กลมกลืนไปกับศิลปะแบบพื้นบ้าน จนได้รับรางวัลหลายครั้ง มีความสามารถในการออกแบบและก่อสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และอื่นๆ

https://aac.ubru.ac.th/ub_artist/files/pdf/01-khamma.pdf

2. นายทองมาก จันทะลือ  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2529

          นายทองมาก จันทะลือ เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อสังคม ทำประโยชน์ ให้แก่สังคมมาก ได้ต่อสู้ชีวิตเริ่มจากไม่มีอะไรเลยด้วยความอุตสาหะวิริยะอย่างสูง ทำให้ความสามารถในการพัฒนาตัวเองให้ประสบความสำเร็จในชีวิต มีชื่อเสียง เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ และยกย่องให้เป็นศิลปินพื้นบ้านดีเด่นเป็นศิลปินแห่งชาติประเภทพื้นเมือง เป็นหมอลำชั้นครูที่ทุกวงการกล่าวขวัญถึง

https://aac.ubru.ac.th/ub_artist/files/pdf/02-thongmak.pdf

3. นายเฉลิม นาคีรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2531

            นายเฉลิม นาคีรักษ์ เกิดวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2460 ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญด้านจิตรกรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการศิลปะและศิลปศึกษาโดยทั่วไป มีผลงานดีเด่นทั้งในแนบศิลปะสมัยใหม่และศิลปะแบบประเพณีประยุกต์ ผลงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับชีวิตและประเพณีไทย

https://aac.ubru.ac.th/ub_artist/files/pdf/03-chalerm.pdf

4. นายเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2534

          นายเคน ดาเหลา หรือที่รู้จักกันดีในหมู่คนอีสานว่า หมอลำเคน ฮุด เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2473 ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นศิลปินหมอลำอาวุโสของภาคอีสาน มีลีลาการลำและศิลปะการใช้น้ำเสียงเป็นที่ประทับใจคนฟังได้อย่างดียิ่ง เป็นผู้มีปฏิภาณเป็นเลิศในเชิงกลอนลำสด มีคารมคมคาย ทั้งลำทางสั้น ลำ ทางยาว ลำเต้ย และลำเบ็ดเตล็ดอื่นๆ รวมถึงสำนวนผญาแบบอีสาน

https://aac.ubru.ac.th/ub_artist/files/pdf/04-khen.pdf

5. นางฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2536
          นางฉวีวรรณ พันธุ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ที่ บ้านหนองไหล ตำบลสร้างค่อน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตร นายชาลี นางแก้ว ดำเนิน ต่อมาสมรสกับ นายโกมินทร์ พันธุ มีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน เมื่อพูดเป็น ฟังได้ พ่อก็ให้ร้อง ให้จำเสียงโดยวิธีเลียนเสียงร้องของสัตว์ต่างๆ เช่น แมว สุนัข ไก่ นก ฯลฯ พ่อจะสอนให้ใช้วิธีจำ วิธีจำแนกเสียงร้อง

https://aac.ubru.ac.th/ub_artist/files/pdf/05-chaweewan.pdf

6. นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2540

          นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พุทธศักราช 2475 ที่จังหวัดอุบลราชธานี สนใจฝึกแสดงหมอลำมาตั้งแต่อายุ 12 ปี กับ หมอลำทองมี สายพิณหมอลำสุบรรณ พละสูรย์ เป็นผู้มีความจำและไหวพริบปฏิภาณสูง ฝึกลำอยู่ 2 ปี ก็สามารถรับงานแสดงเป็นของตนเองได้ และเนื่องจากเป็นหมอลำที่มีสำนวนคมคาย สามารถโต้ตอบกับหมอลำฝ่ายชายได้อย่างฉลาดเฉลียว เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม

https://aac.ubru.ac.th/ub_artist/files/pdf/06-boonpaeng.pdf

7. นายคำพูน บุญทวี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (วรรณศิลป์) ปี 2544
          นายคำพูน บุญทวี เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช 2471 ณ บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล จังหวัดยโสธร (ขณะนั้นเป็นตำบลทรายมูล อำภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี) บิดาชื่อนายสนิท มารดาชื่อนางลุน ประกอบอาชีพทำนา นายคำพูน บุญทวี เป็นนักเขียนที่สร้างสรรค์ผลงานวรรณศิลป์ต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 30 ปี มีทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย สารบันเทิงและสารคดี โดยใช้นามจริงคือ “คำพูน บุญทวี” เป็นหลัก

https://aac.ubru.ac.th/ub_artist/files/pdf/07-khamphoon.pdf

8. นายฉลาด ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2548

            นายฉลาด ส่งเสริม หรือ เกแม่น้ำ(ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม) ชื่อเล่น เป เมื่อเยาว์วัยอยู่ในท้องถิ่นที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ ความงดงามของประเพณีและวัฒนธรรมของชาวชนบทควบคู่กับการละเล่น การแสดง ความบันเทิง ตามเทศกาลประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะการเล่นหนังตะลุง (หนังบักตื้อ) ลิเกลาว (หมอลำหมู่ หมอลำกลอน) ชอบที่จะจดจำมาแสดงท่าทางเลียนแบบการร้อง การเต้น หนังตะลุง หมอลำหมู่ หมอลำกลอน

https://aac.ubru.ac.th/ub_artist/files/pdf/08-chalard.pdf

9. นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมไทย) ปี 2553
          นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี มีแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ศึกษาค้นคว้าข้อมูลและรูปแบบจากสถาปัตยกรรมโบราณของท้องถิ่นทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง อนุรักษ์และสืบทอดงานสถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนการออกแบบสร้างสรรค์ ผลงานอย่างมีคุณภาพ ผลงานด้านพุทธศิลป์มีทั้งเจดีย์ วิหาร พระอุโบสถ และศาลา พัฒนารูปแบบและกรรมวิธีการก่อสร้างการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกับ สภาพสังคมและเศรษฐกิจ นับได้ว่าเป็นการนำวิธีการออกแบบโครงสร้างสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ ใช้กับอาคารสถาปัตยกรรมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

http://art.culture.go.th/art01.php?nid=244

10. นางนิตยา รากแก่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2556
          หมอลำบานเย็น รากแก่น เป็นศิลปินที่แม้จะมีรากฐานมาจากศิลปะการแสดงพื้นบ้านแต่ก็ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่สนใจในการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาของการแสดงเชิงสร้างสรรค์มาโดยตลอด ทั้งการพัฒนาวิธีการร้องรำที่มีเอกลักษณ์ในการใช้น้ำเสียงลูกเอื้อน การเลือกใช้ดนตรีผสมร่วมกันระหว่างเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานกับเครื่องดนตรีสากลอย่างกลมกลืน

https://aac.ubru.ac.th/ub_artist/files/pdf/09-nitaya.pdf

11. นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ปี 2557

            นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2479 ที่จังหวัดอุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอุบลวิทยากร อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มต้นทำงานที่โรงเรียนอุบลวิทยากร แต่ด้วยความรักที่จะทำงานเพลงและภาพยนตร์ ซึ่งได้ศึกษาเรียนรู้นอกระบบตามความใฝ่ฝันมาตลอด จึงหันมาทำงานในวงการบันเทิงอย่างจริงจัง

https://aac.ubru.ac.th/ub_artist/files/pdf/10-pongsak.pdf

12. นายสมบัติ เมทะนี  ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ปี 2559

          สมบัติ เมทะนี หรือชื่อเล่น แอ๊ด เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี 2559 นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ผู้ชนะเลิศรางวัลตุ๊กตาทองและรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง นอกจากนี้ กินเนสส์บุ๊กยังบันทึกไว้ว่าเป็นนักแสดงที่รับบทเป็นพระเอกมากที่สุดในโลก โดยแสดงเป็นพระเอกถึง 617 เรื่อง

http://art.culture.go.th/art01.php?nid=296

13. นางคำปุน ศรีใส  ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ปี 2561

          นางคำปุน ศรีใส ได้รับการสืบทอดศิลปะการทอผ้าไหมจากบรรพบุรุษตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งการทอผ้าไหม สีต่างๆ ผ้าไหมมัดหมี่ชนิด ๒ ตะกอ ๓ ตะกอ และ 4 ตะกอ รวมถึงผ้าไหมยกเงินผ้าไหมยกทองนอกจากนี้ ได้พัฒนาการทอผ้าไหมให้มีลวดลายวิจิตรพิสดาร โดยยึดรากฐานการทอผ้าอีสาน คือ หมี่ ขิด ยก และ จก เป็นพื้นฐาน และพัฒนาผ้าไหมให้มีลวดลายหลากหลายยิ่งขึ้น โดยผ้าที่มีชื่อเสียงของบ้านคำปุนคือ ผ้าไหมมัดหมี่ผสม การจก (การปัก) ด้วยไหมสีต่างๆ มีทั้งไหมเงินไหมคำลงบนผืนลายผ้า เพื่อให้เกิดแสงเลื่อม พรายเมื่อต้องแสงไฟ ช่วยให้ผ้ามีความงดงามวิจิตรตระการตามากขึ้น อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่นของผ้า

https://www.guideubon.com/2.0/ubon-news/mae-khampun-srisai/

14. นายมีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า)  ปี 2564

          นายมีชัย แต้สุจริยาหรือ “ครูเถ่า” อยากจะมีส่วนร่วมในการลงมือทอผ้า แต่วัฒนธรรมไทยนั้นไม่อนุญาตให้ ‘เด็กผู้ชาย’ ทอผ้า เขาจึงสนองความอยากรู้ของตัวเองด้วยการช่วยเหล่าช่างทอผ้าหญิงย้อมมัดด้าย การลงมือซ่อมกี่ทอผ้าโบราณของคุณยายที่ได้รับตกทอดมา (คุณยาย รุ่นที่ 2 คุณแม่ รุ่นที่ 3 และมีชัย สืบทอดเป็นรุ่นที่ 4) และเฝ้าเก็บเกี่ยวเคล็ดลับภูมิปัญญาต่างๆ ขณะนั้น ไม่มีใครรู้เลยว่า เขาจะกลายมาเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ด้านสิ่งทอสมัยใหม่คนสำคัญของประเทศ

https://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=6814&filename=i

15. นายวิชชา ลุนาชัย  ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2564

           นายวิชชา ลุนาชัย  มีผลงานเขียนจำนวนมากได้รับรางวัลวรรณกรรม ทั้งรางวัลหนังสือดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด และอื่นๆ รวมแล้วเกินกว่า ๓๐ รางวัลนวนิยาย ฝั่งแสงจันทร์ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ระดับมัธยมศึกษา ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการนอกจากนี้ ผลงานยังได้รับความสนใจนำมาศึกษาวิจัย และทำวิทยานิพนธ์

https://www.culture.go.th/culture_th/images/akasit/22.pdf

16. นายสลา คุณวุฒิ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล – ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง)ปี 2564

          จากประสบการณ์ชีวิตที่ได้เติบโตมาในภาคอีสาน และพรสวรรค์ในการใช้ภาษาที่ลึกซึ้งคมคาย นายสลาคุณวุฒิ จึงได้นำเรื่องราวชีวิตของคนรากหญ้ามาเรียงร้อยพรรณนาด้วยสำนวนโวหารที่ซาบซึ้งกินใจผู้ฟัง มีพล็อตเรื่องชัดเจน ทำนองติดหูมีภาษาที่เป็นส่วนผสมระหว่างโรแมนติคและสัจนิยม สร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์เพลงจำนวนนับพันเพลงเป็นผู้ปลุกกระแสตลาดเพลงลูกทุ่งร่วมสมัยให้เป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้านและที่สำคัญคือเป็นผู้สร้างนักร้องลูกทุ่งประดับวงการจำนวนมาก

https://readthecloud.co/sala-khunnawut/

#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี