ม.ราชภัฏอุบล ฯ ร่วม สวทช. พัฒนายกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

          มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ นำนักศึกษาร่วมโครงการ “การพัฒนายกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อพื้นที่ทุ่งกุลาร้องให้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพอุบลราชธานี ปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม ปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด และปศุสัตว์จังหวัดยโสธร ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีปฏิบัติการเหนี่ยวนำให้เกิดการตกไข่และผสมเทียมโคเนื้อ ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทั้ง ๕ จังหวัด รวม ๑๐๐ ตัว โดยเทคโนโลยีดังกล่าวเหมาะสำหรับจัดการฝูงแม่พันธุ์โคให้ผลิตลูกโคเนื้อได้จำนวนมากในรุ่นเดียวกัน นำไปสู่ระบบการเลี้ยงและการขุนโคเนื้ออย่างเป็นระบบ ลดค่าใช้จ่ายการจัดการฟาร์มและเพิ่มรายได้จากการเสียโอกาสที่แม่โคทิ้งช่วงท้องว่างนาน รวมถึงแผนการผสมเทียมเพื่อยกระดับสายพันธุ์โคเนื้อในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อย่างน้อย ๔๐๐ ตัว ให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด ภายใต้โครงการดังกล่าว มีแผนการดำเนินงานของโครงการครอบคลุม ๕ จังหวัดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด โดยนำเทคโนโลยีในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อทุ่งกุลาร้องไห้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ประกอบด้วย ๓ กลุ่มเทคโนโลยี ได้แก่

          ๑. เทคโนโลยีด้านการพัฒนาพันธุ์และการดูแลโคเนื้อ

          ๒. กลุ่มเทคโนโลยีด้านอาหารโคเนื้อ

          ๓. กลุ่มเทคโนโลยีด้านมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อ และการเพิ่มมูลค่าโคเนื้อ

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษฎา บูรณารมย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัยและบริการวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับโครงการ “การพัฒนายกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อพื้นที่ทุ่งกุลาร้องให้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ในครั้งนี้ ได้นำนักศึกษาสาขาวิชาสัตวศาสตร์เข้าร่วมดำเนินงานโครงการ ฯ ประกอบด้วย นายวัลลภ โคตรกว้าง นายพรรณเชษฐ์ กำเนิดสิงห์ นายองกรณ์ อรอินทร์ นายคมกฤษณ์ กล้าหาญ นศ. ชั้นปี ๑ และนายจิระวัฒน์ ธิมาทา นศ. ชั้นปี ๒ สำหรับการดำเนินงานทีมสัตวศาสตร์ราชภัฏอุบล ฯ ได้ลงพื้นที่ดำเนินงานตามโครงการ ฯ ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ เพื่อคัดเลือกแม่พันธุ์โคเข้าร่วมโครงการ ฯ ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๙ มกราคม ๒๕๖๗ เพื่อปฏิบัติการเหนี่ยวนำการตกไข่ และครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๒๙ มกราคม – ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เพื่อถอดฮอร์โมนCIDR ฉีดฮอร์โมน PG และผสมเทียม ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ  ตำบลเมืองบัว อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์  ตำบลเมืองเตา และตำบลเมืองเสือ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม  และตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ในการดำเนินงานถอดฮอร์โมน CIDR และฉีดฮอร์โมน Prostaglandin F2 Alpha : PG ให้กับโคแม่พันธุ์ของเกษตรกร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผมพันธุ์ ซึ่งนักศึกษาได้นำความรู้จากการเรียนภาคทฤษฎี สู่การลงมือปฏิบัติในพื้นที่และสถานการณ์จริง เกิดความความเข้าใจลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังฝึกทักษะด้านสัตวศาสตร์ให้มีความชำนาญ อาทิ ถารถอด CIDR การฉีดฮอร์โมน PG การผสมเทียม ถึงแม้การดำเนินงานจะประสบปัญหาอย่างแท่ง CIDR หลุดหาย เกษตรกรปล่อยแม่โคลงทุ่ง ทำให้ต้องดำเนินการใหม่อีกครั้ง แต่ก็สามารถดำเนินงานได้สำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และกำลังใจจากเจ้าของสัตว์เลี้ยง นับเป็นโอกาสที่นักศึกษามีโอกาสได้ร่วมกิจกรรม เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากสถานการณ์จริง ซึ่งสิ่งที่ได้รับคือ

          ๑. ได้รับมวลประสบการณ์ในการคัดเลือกแม่พันธุ์ การเหนี่ยวนำการเป็นสัดในโคเนื้อ

๒. ได้เรียนรู้ และปฏิบัติการผสมเทียมโคเนื้อของเกษตรกร

๓. ได้ทราบแนวทางการบันทึกข้อมูลการผสมเทียม

๔. ได้มวลประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่ การประสานงาน ปฏิบัติงานร่วมกันเป็นทีม

๕. ได้มีส่วนร่วมในการนำเอาความรู้ และทักษะในการเรียนสาขาสัตวศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

“เรียนสัตวศาสตร์ ราชภัฏอุบล: ได้ความรู้ ได้เครือข่าย ได้ความสุข”

          ซึ่งการดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้โปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน และการทำงานแบบบูรณาการโดยอาศัยเครือข่าย ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมุ่งหวังที่จะเห็นการยกระดับอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืน

          คณะเกษตรศาสตร์ เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา ๒๕๖๗ รอบที่ ๒/๑ โควตาเครือข่ายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ – ๑ มีนาคม ๒๕๖๗ ดูรายละเอียดได้ที่ https://agri.ubru.ac.th/web/ สมัครได้ที่ https://admission.ubru.ac.th/

#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี