มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ส่งเสริม “เฮียนฮู้” ใบลานเมืองอุบล สืบฮอยตา วาฮอยปู่ อย่างสร้างสรรค์

          มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม จัดโครงการอบรม “เฮียนฮู้” ใบลานเมืองอุบล สืบฮอยตา วาฮอยปู่ อย่างสร้างสรรค์ ระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2567 ณ วัดสุปัฏนาราวรวิหาร อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและความสำคัญของอักษรที่ปรากฏในเอกสารโบราณเมืองอุบลราชธานี รวมถึงสร้างกระบวนการเรียนรู้ เกี่ยวกับการใช้และฝึกปฏิบัติการจัดหมวดหมู่เอกสารโบราณ

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปิยา ทาปทา ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร เป็นศูนย์กลางการศึกษาเล่าเรียนของเมืองอุบลราชธานี มีจำนวนคัมภีร์ใบลานจำนวนมาก จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่ามีคัมภีร์ที่มีความหลากหลาย ทั้งคัมภีร์ใบลาน คัมภีร์ใบลานอักษรขอม คัมภีร์ใบลานอักษรธรรมอีสานคัมภีร์อักษรไทยน้อย

          โครงการอบรม “เฮียนฮู้” ใบลานเมืองอุบล สืบฮอยตา วาฮอยปู่ อย่างสร้างสรรค์ โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เอกสารโบราณเมืองอุบลราชธานีที่เก็บรวบรวมใบลานคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญมากว่า 1,305 ผูก โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานที่มีความเก่าแก่ บางฉบับมีอายุกว่าร้อยปี

          การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมระยะที่ 1 ภายใต้โครงการวิจัย “การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน” โดยกิจกรรมเป็นการบรรยายสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับใบลาน พร้อมการฝึกปฏิบัติโดยผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานี และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับใบลาน ได้แก่ พระปกรณ์ ชินวโร (ปุกหุต), รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญชู ภูศรี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สานิตย์ โภคาพันธ์, นายณัฐพงค์ มั่นคง, นายภิญโญ พรหมสวัสดิ์ ร่วมบรรยาย

          – วัดกับระบบการศึกษาของเมืองอุบลราชธานี

          – ตัวอักษรโบราณ (ไทยน้อย/ธรรมอีสาน)

          – กระบวนการผลิตใบลาน

          – การจารใบลาน

          – การทำความสะอาดคัมภีร์ใบลาน

          – การห่อคัมภีร์ใบลาน

          ซึ่งมีทั้งครูภาษาไทย ครูสังคมศึกษา นักเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย พระภิกษุ-สามเณร ตลอดจนบุคคลทั่วไป กว่า 150 คน สนใจเข้าร่วมอบรมเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ วัดกับระบบการศึกษาของเมืองอุบลราชธานี ประวัติความเป็นมาของอักษรไทน้อย กระบวนการผลิตและจารคัมภีร์ใบลาน การทำความสะอาดและการห่อคัมภีร์ใบลาน และสามารถถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไป เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของใบลาน พร้อมร่วมอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานให้คงอยู่คู่ชาวอุบลราชธานี

          ซึ่งมีทั้งครูภาษาไทย ครูสังคมศึกษา นักเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย พระภิกษุ-สามเณร ตลอดจนบุคคลทั่วไป กว่า 150 คน สนใจเข้าร่วมอบรมเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ วัดกับระบบการศึกษาของเมืองอุบลราชธานี ประวัติความเป็นมาของอักษรไทน้อย กระบวนการผลิตและจารคัมภีร์ใบลาน การทำความสะอาดและการห่อคัมภีร์ใบลาน และสามารถถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชน ประชาชนทั่วไป เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของใบลาน พร้อมร่วมอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานให้คงอยู่คู่ชาวอุบลราชธานี

          สำหรับกิจกรรมระยะที่ 2 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2567 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนการดำเนินกิจกรรม ทั้งการทดสอบการอ่านคัมภีร์ใบลาน ณ วัดหลวง และศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์เอกสารโบราณเมืองอุบลราชธานี วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี