มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม
กลุ่มผู้พิการ นับเป็นกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม ซึ่งมีข้อจํากัดในการดำเนินชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งการเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม บางคนพิการมาตั้งแต่เกิด แต่บางคนตอนเกิดมาก็ปกติดีแต่ร่างกายเกิดความบกพร่องภายหลัง ทั้งการบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ ออทิสติก หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง ย่อมมีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพที่จะประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเอง และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข รวมทั้งการช่วยสร้างสรรค์สังคมได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการให้โอกาส โดยเปิดโอกาสให้กับนักเรียนและผู้พิการทุกประเภทสมัครเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ ด้วยวิธีการสอบคัดเลือกโดยมหาวิทยาลัยเหมือนกับนักศึกษาปกติทั่วไป เรียนร่วมกับนักศึกษาปกติ ซึ่งการเรียนร่วมกันมีประโยชน์มาก เป็นการช่วยส่งเสริมศักยภาพของผู้พิการ รวมทั้งยังทำให้นักศึกษาปกติในชั้นเรียนเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีเมตตา กรุณา มีน้ำใจ และพร้อมจะให้การช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า ช่วยให้ไม่เกิดการแบ่งแยกบุคคลเพราะความแตกต่าง ความบกพร่อง หรือความพิการ และทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสม โดยมี “งานบริการและสนับสนุนนักศึกษาพิการ” (Disability Support Services Center : DSS) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาพิการ สนับสนุนทางการศึกษาที่ช่วยให้นักศึกษาที่มีความพิการสามารถเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาปกติได้อย่างมีคุณภาพ มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานที่มีความพร้อมสำหรับให้บริการแก่นักศึกษาพิการมาแล้วมากกว่า 10 ปี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการศึกษาพิเศษโดยตรง มีเครือข่ายผู้ปกครองนักศึกษาพิการ เครือข่ายรุ่นพี่รุ่นน้องนักศึกษาพิการ และเครือข่ายนักศึกษาอาสาสมัครช่วยเหลือนักศึกษาพิการที่เข้มแข็ง นักศึกษาพิการจะได้เรียนฟรี ได้รับอุปกรณ์การเรียนฟรีแล้ว ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ เช่น ลิฟต์สำหรับผู้พิการ ทางลาด ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ ราวกันตกหรือผนังกันตก รวมไปถึงการเลือกวัสดุก่อสร้างที่ทำให้พื้นผิวของอาคารไม่ลื่นและทางเดินไม่ขรุขระ เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสะดวกและปลอดภัยในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาพิการ นอกจากนี้ยังมีการรับนักศึกษาทุนอาสาสมัครช่วยเป็นบัดดี้ให้กับนักศึกษาพิการ ทำหน้าที่เป็นเพื่อนช่วยเรียน ช่วยแนะนำการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งคนในวัยเดียวกันจะมีความเข้าใจซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี
เรื่องเล่าพลังบวก : ความใฝ่ฝัน มิตรภาพ ความภาคภูมิใจ
เอกรัตน์ วงศ์พิทักษ์ หรือ ชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ ตัวแทน “ผู้บกพร่องทางการได้ยิน” ให้สัมภาษณ์ผ่านล่ามภาษามือของศูนย์ DSS น้องชัยเล่าว่า เขาหูหนวกมาตั้งแต่เกิด เขาไม่ได้ยินเสียง ทำให้เขาพูดไม่ได้เพราะไม่เคยได้ฝึกพูดเลย ตอนเด็ก ๆ เคยน้อยเนื้อต่ำใจที่ตัวเองหูหนวก เพราะอยากได้ยินว่าคนอื่นเขาพูดอะไรกัน แต่เขาได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่เป็นอย่างดี บวกกับการที่เขาเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี เมื่อได้เรียนหนังสือ เขาก็เขียนหนังสือได้ใช้ภาษามือเป็น ทำให้ได้รู้ว่าสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้เหมือนกัน ยิ่งพอได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี พบว่าเพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัยน่ารักมาก คอยช่วยเหลือให้กำลังใจตลอด บางคนถึงขั้นพยายามฝึกภาษามือเพื่อคุยกับเขาอีกด้วย น้องชัยบอกว่า ผมคิดไม่ผิดเลยที่มาเรียนที่นี่ และยังบอกอีกว่า ถึงผมจะไม่ได้ยินเสียงและพูดไม่ได้ แต่ผมก็สามารถสื่อสารได้ดี และที่สำคัญผมปรับตัวได้เก่งมากนะครับ เขาสื่อสารด้วยความมั่นใจ และความใฝ่ฝันของน้องชัยก็คือ “อยากเป็นครู” เพื่อส่งต่อความรู้และประสบการณ์ให้แก่นักเรียนนักศึกษา และพร้อมให้กำลังใจผู้พิการทุกคนเสมอ
นอกจากนี้แล้ว เรายังได้คุยเรื่องราวความใฝ่ฝันในชีวิต (ผ่านล่ามภาษามือของศูนย์ DSS) กับนักศึกษาคนอื่น ๆ ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิดเช่นเดียวกับน้องชัย ไม่ว่าจะเป็น
น้องบอส วรวุฒิ เกษพันธ์ กับ น้องปูเป้ สุนิสา แสงมาศ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ ที่มีความใฝ่ฝัน “อยากเป็นครู”
ส่วนน้องแม็ค มินตรา สนโสก และ น้องสา พรรวษา สาสาย นักษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาธุรกิจอาหารและโภชนาการ คณะเกษตรศาสตร์ ทั้ง 2 สาวต่างก็บอกว่าอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง น้องแม็ค “อยากเป็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว” ส่วนน้องสา “อยากเป็นเจ้าของร้านกาแฟตกแต่งเป็นคาเฟ่สวย ๆ”
เควิน จอห์นสัน หรือ เควิน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นตัวแทน “ผู้บกพร่องทางการมองเห็น” ให้สัมภาษณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ DSS คอยให้การดูแลไม่ห่าง น้องเควินเล่าว่าตนเองเริ่มมีอาการจอประสาทตาเสื่อมตอนอายุ 10 ขวบ และตาบอดสนิทตอนอายุ 13 ปี คุณหมอบอกว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมและในปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ ตอนที่ตาบอดช่วงแรก ๆ รู้สึกท้อแท้หมดหวังกับชีวิตมาก ๆ ทำให้ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ ได้ ทีแรกคิดว่าการเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยเป็นเรื่องยากสำหรับผู้พิการ แต่ก็ยังโชคดีที่มีรุ่นพี่ที่เป็นผู้พิการและเป็นศิษย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี แนะนำให้มาเรียนที่นี่ซึ่งมีความพร้อมและการดูแลนักศึกษาพิการเป็นอย่างดี โดยให้แง่คิดว่าการศึกษาทำให้มีความรู้มากขึ้น จะทำให้มีโอกาสในการทำงานเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวในอนาคตได้ และปัจจุบันสังคมให้โอกาสพวกเรามากยิ่งขึ้น มีงานรองรับผู้พิการอย่างพวกเราเยอะขึ้น มีบริษัทที่จ้างงานคนพิการมากมาย เมื่อได้มาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ทำงานกลุ่มร่วมกับเพื่อน ๆ ก็เจอประสบการณ์ดีบ้างไม่ดีบ้าง ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจการอยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้คนหลากหลายรูปแบบ
น้องเควินชอบเสียงเพลงและชอบเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เพราะทำให้มีความสุข โดยเฉพาะการเล่นเปียโน จึงเลือกเรียนสาขาวิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งเหตุผลที่ตัดสินใจมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ก็เพราะว่ามีรุ่นพี่แนะนำมา รุ่นพี่บอกว่าที่นี่สอนดีและดูแลดีมาก มีวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ครบครัน แถมยังสอนใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การเรียนและการใช้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะเลยครับ แถมเพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัย และพี่ ๆ ที่ศูนย์ DSS ยังให้การดูแลดีมาก ๆ รู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยมากครับ ความใฝ่ฝัน “อยากเป็นนักแต่งเพลง”
และคู่บัดดี้ของน้องเควิน ก็คือ น้องยูโร “ภควัต ลุนศรี” นักศึกษาชั้น ปี 1 สาขาวิชาดนตรี (ค.บ.) ครุศาสตร์ ผู้บกพร่องทางการมองเห็น น้องยูโรก็เป็นอีกคนที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเมื่อตอนอายุ 16 ปี แต่อยู่ในขั้นเลือนราง สามารถมองเห็นในระยะใกล้ ๆ ได้แต่ไม่ชัดเจน เขามีความชอบทางด้านเสียงเพลงและการเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ก่อนที่จอประสาทตาจะเสื่อมเคยหัดเล่นกีตาร์มาก่อน ทำให้สามารถเรียนได้อย่างราบรื่น และการตัดสินใจมาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยเหตุผลเดียวกับน้องเควิน น้องยูโรมีความใฝ่ฝัน “อยากเปิดโรงเรียนสอนดนตรี” เป็นของตัวเอง เพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองรักและอยากมอบโอกาสให้กับผู้พิการคนอื่น ๆ
ด้าน สุทธิกานต์ สายตา หรือ น้ำ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ ตัวแทน “ผู้บกพร่องทางกายหรือการเคลื่อนไหว” ให้สัมภาษณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ DSS ให้การดูแลและประสานงาน เธอเล่าให้ฟังว่าตอนที่อายุ 14 ปี ตนเองประสบอุบัติเหตุรถชน ได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก จนคุณหมอต้องตัดขาข้างขวาทิ้ง เพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ อุบัติเหตุในครั้งนั้นทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ๆ ช่วงแรกการใช้ชีวิตลำบากมากเพราะเคลื่อนไหวไม่สะดวกต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยในการเดิน โดนคนบลูลี่เรื่องของความพิการ จากคนที่ร่าเริงแจ่มใสต้องกลายเป็นโรคซึมเศร้าอยู่พักใหญ่ ต่อมาได้ใส่ขาเทียมทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น น้องน้ำต้องคอยปลอบใจและให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ เวลาที่ท้อแท้น้ำจะคิดเสมอว่ายังมีคนที่แย่กว่าเราอีกมากมาย รวมทั้งยังได้รับกำลังใจจากคนในครอบครัว และคุณครูที่โรงเรียนกันทรลักษ์วิทยา พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 น้องน้ำเลือกมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีรุ่นพี่ที่พิการที่จบจากที่นี่เล่าให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยดูแลเป็นอย่างดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย และชื่นชอบในบรรยากาศของมหาวิทยาลัย พอได้เข้ามาเรียนที่นี่แล้วมุมมองชีวิตก็เปลี่ยนไป น้องน้ำค้นพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องใช้ชีวิตให้เป็นปกติเหมือนกับคนปกติให้ได้ ซึ่งเธอเองได้สมัครและได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนคณะเข้าประกวดร้องเพลงในเวทีประกวดน้องหล้าคำแพงอีกด้วย น้องน้ำเป็นคนมีความคิดที่พิเศษ เธอมักจะคิดว่า ทำไมการแข่งขันแต่ละประเภทต้องแบ่งแยกคนปกติกับคนพิการด้วย? เมื่อเรียนจบแล้ว ความใฝ่ฝันของน้องน้ำก็คือ การนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปต่อยอดธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของพ่อ และช่วยแม่พัฒนาร้านอาหารให้กิจการเจริญเติบยิ่งขึ้น ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่เลือกเรียนสาขาวิชาการตลาด
การศึกษาคือแสงสว่างของชีวิต
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้พิการ เปิดโอกาสให้ได้รับการศึกษาที่ดีอย่างเท่าเทียม เพื่ออนาคตที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และที่สำคัญเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการสร้างสังคมที่เท่าเทียมให้กับทุกคน ขอเพียงให้โอกาสกับตัวเอง มีความมั่นใจที่จะออกมาใช้ชีวิตปกติ รั้วเทา-ชมพูของเรายินดีต้อนรับผู้พิการทุกคนเข้ามาเรียนกับเรา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “งานบริการและสนับสนุนนักศึกษาพิการ กองพัฒนานักศึกษา สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี” เฟซบุ๊ก : “งานบริการและสนับสนุนนักศึกษาพิการ DSS UBRU” โทรศัพท์ 045-352000 ต่อ 1050 หรือ เพจ : https://admission.ubru.ac.th , เฟซบุ๊ก : “รับเข้าศึกษา ม.ราชภัฏอุบลฯ” โทรศัพท์ 045-352000 ต่อ 2144-2147