ม.ราชภัฏอุบล ฯ สร้างนวัตกรรมลดปัญหาขยะโฟมเพื่อลดสถานการณ์โลกร้อน

ขยะโฟมร้ายกว่าที่คุณคิด!

               ปริมาณขยะโฟมในประเทศไทยสูงขึ้นทุกปี ขยะโฟมเป็นขยะอุตสาหกรรมที่ใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 500 ปี หรืออาจใช้เวลามากกว่านั้น ซึ่งการนำขยะจากจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อไปกำจัดยังหน่วยงานที่รับกำจัดขยะอุตสาหกรรมของเสียอันตรายซึ่งตั้งอยู่ที่ภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทยมีค่าขนส่งที่แพงมาก จึงมักจะมีการลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมไปฝังกลบแบบไม่ถูกวิธี และมีการนำไปเผาทำลาย ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีเลย ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตอย่างมาก ซึ่งการลักลอบเผาแต่ละครั้งส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชน ส่งกลิ่นเหม็นมาก และทำให้เกิดมลพิษทางอากาศตามมา

“อิฐผสมโพลียูรีเทนโฟม” ทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า

               การผลิตอิฐผสมโพลียูรีเทนโฟม (Polyurethane Foam : PU Foam) เป็นงานวิจัยเพื่อชุมชน สร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน โดยเมื่อผ่านการอบรมวิธีการทำอิฐผสมโพลียูรีเทนโฟมแล้ว สามารถนำความรู้ไปสร้างอาชีพได้ สร้างรายได้ให้ชุมชน เพิ่มมูลผลิตภัณฑ์ ค่าลดขยะ ลดการเผา ลดมลพิษ เป็นการ สร้างรายได้และกำจัดขยะไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งอิฐผสมโพลียูรีเทนโฟมนั้น สามารถนำมาขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายมาก เช่น อิฐมวลเบา อิฐปูทางเดิน อิฐช่องลม แผงผนัง กระเบื้องมุงหลังคา เป็นต้น เพื่อใช้ในการตกแต่งบ้านตกแต่งสวน หรือจะทาสีเพิ่มสีสันที่อิฐให้สวยงามแล้วนำไปสร้างคาเฟ่เก๋ ๆ ก็ดูดีได้

นักวิจัยเล่าถึงผลงานแห่งความภาคภูมิใจ       

               อาจารย์ ดร.กุลวรรณ  โสรัจจ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบล ฯ เล่าถึงที่มาของการผลิตอิฐผสมโฟมนวัตกรรมใหม่ชิ้นนี้ว่า เกิดจากผลการสำรวจและวิจัยเรื่องการคัดแยกขยะให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นแหล่งรับซื้อของเก่า จึงได้ทราบว่าขยะโพลียูรีเทนโฟมที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทตู้เย็นเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้แก่ชุมชนเป็นอย่างมาก นอกจากจะทำลายยากแล้ว ยังมีปริมาณเยอะมาก จึงได้ร่วมกับทีมทำการศึกษา วิจัย และสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือ “อิฐผสมโพลียูรีเทนโฟม” และถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษา หน่วยภาครัฐต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดคือการให้บริการวิชาการแก่ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี ชาวบ้านชื่นชอบผลงานชิ้นนี้เป็นอย่างมาก และพึงพอใจในผลงานการทำอิฐผสมโฟมของตนเองเป็นอย่างมาก นอกจากทำง่ายขายง่าย รายได้ดี แล้วยังช่วยลดปัญหาขยะโฟมได้อีกด้วย

               การผลิต “อิฐผสมโฟมโพลียูรีเทน” ต่อยอดมากจากวิจัยเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุบลราชธานี อบต.ยางขี้นก และเทศบาลเมืองคิตะคิวซู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ให้เกียรติเดินทางมาร่วมดำเนินกิจกรรมโครงการความร่วมมือในด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และได้ศึกษาดูงานขั้นตอนกระบวนการผลิต “อิฐผสมโฟมโพลียูรีเทน” อีกด้วย

               ด้าน ผศ.ดร.สุรศักดิ์  นิยมพานิชพัฒนา อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หนึ่งในทีมวิจัย เล่าว่า ตนเองได้คิดค้นและประดิษฐ์ “เครื่องบดโฟม” ซึ่งผลิตขึ้นมาเพื่องานวิจัย “อิฐผสมโฟมโพลียูรีเทน” โดยเฉพาะ สาเหตุที่ต้องนำโฟมมาบดให้ละเอียดจนกลายเป็นผงแล้วค่อยนำมาผสมกับอิฐนั้น ก็เพื่อให้ได้อิฐผสมโฟมโพลียูรีเทน  ที่มีความพิเศษในเรื่องของคุณสมบัติความแข็งแรงคงทนของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากโพลียูรีเทนโฟมมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อน และฉนวนกั้นเสียง และเนื้อโฟมที่บดละเอียดจะสามารถเข้าไปขยายตัวเติมเต็มช่องโหว่ อุดรูโพรง อุดรอยต่อ รอยแตกร้าวต่าง ๆ อย่างในบริเวณเล็ก ๆ ที่เข้าถึงได้ยาก เมื่ออิฐกับโฟมผสมผสานกันแล้ว จะได้อิฐที่มีความเบาแต่คงทนมาก และกันความร้อนได้ดีมาก ๆ อีกทั้งยังสามารถกันน้ำไม่ให้รั่วซึมได้อีกด้วย จากคุณสมบัติเหล่านี้ จึงมีการนำผลิตภัณฑ์นี้มาแปรรูปเป็นแผ่นผนังและแผ่นหลังคาไปใช้ในการก่อสร้าง ช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทาน และทำให้การก่อสร้างเสร็จได้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากการขนย้ายอิฐได้ง่ายเพราะมีน้ำหนักเบา รวมทั้งยังช่วยเพิ่มอายุการใช้งานของสิ่งก่อสร้างให้ยาวนานขึ้นไปได้อีก

               ด้าน อาจารย์ ดร.อนุวัฒน์ ยินดีสุข อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ อีกหนึ่งในทีมวิจัย เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ในส่วนของงานวิจัย “อิฐผสมโพลียูรีเทนโฟม” พัฒนามาจากกลไกการจัดการวัสดุเหลือทิ้งจากการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทโฟมโพลีรีเทนโฟม สู่แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มในแบบ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งการจัดการเชิงกลยุทธ์เศรษฐกิจแบบวงกลม จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เช่น การใช้ซ้ำที่เป็นไปได้ และการจัดการของเสีย เป็นต้น ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้จัดทำเป็น คู่มือ “การจัดการโฟมโพลียูรีเทน จากกระบวนการรื้อแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ (ประเภทตู้เย็น)” เพื่อเผยแพร่เป็นบริการวิชาการให้กับผู้ที่สนใจได้ศึกษาข้อมูลอีกด้วย สามารถแสกนคิวอาร์โค้ดและดาวน์โหลดกันได้เลยครับ

ลดขยะโฟม เท่ากับ ลดสถานการณ์โลกร้อน

               หากลองจิตนาการดูว่า ถ้าโลกของเราไม่มีมลภาวะที่เป็นพิษ อากาศไม่แปรปวน จะดีสักแค่ไหน? แต่ที่โลกของเราเต็มไปด้วยขยะและของเสีย เราก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ คนที่ทำให้เกิดขึ้น ถ้าเราช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการสร้างของเสีย โดยเฉพาะโฟมที่ต้องใช้เวลานานมาก  ในการย่อยสลาย เรามาช่วยกันลดการใช้โฟม และช่วยกันแยกขยะโฟม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไปกันเถอะ ถ้าใครสนใจการผลิตอิฐผสมโฟมโพลียูรีเทน มาช่วยกันลดโลกร้อนไปพร้อมกับการเพิ่มรายได้กันเถอะ ติดตามเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความรู้ด้านงานวิทยาศาสตร์ ได้ที่ เฟซบุ๊ก : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กันได้เลยนะคะ

ข่าวโดย : นันทิชา วิปุละ

#งานประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี