ม.ราชภัฏอุบล ฯ จับมือเครือข่าย
ส่งเสริมการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model

          มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จับมือกับ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพลังงานทดแทนแดนอีสาน และสื่อสร้างสุข รวมพลังเดินหน้าผลักดันและส่งเสริมการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ที่มั่นคงและยั่งยืน โดยมี รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมเสวนา “แนวทางการสร้างความร่วมมือ การส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในพื้นที่ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ที่มั่นคงและยั่งยืน จังหวัดอุบลราชธานี” มีการนำผลงานต่าง ๆ มานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาแสดงภายในงาน

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา มูลสิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวว่าการจัดงานในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ที่มั่นคงและยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์จังหวัดและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร ให้มีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างมิติใหม่ของการทำงานเชิงรุก มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ตรงจุด    ตรงความต้องการ เกิดความมั่นคงและยั่งยืน และนับเป็นการทำงานในบทบาทสำคัญของภาควิชาการต่อการสร้างภาคีเครือข่าย การพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยแห่งความสุข มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ภายในงานนอกจากการเสวนาแล้ว ยังมีนิทรรศการและต้นแบบผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพลังงานทดแทนแดนอีสาน ผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมเตาพลังงานและผลิตภัณฑ์จากเตา ผลิตภัณฑ์ชุมชนเครือข่ายจังหวัดอุบลราชธานี ผลิตภัณฑ์ชุมชนเครือข่ายจังหวัดศรีสะเกษ และผลิตผลทางการเกษตร   ของสื่อสร้างสุข เพื่อสาธิตให้ความรู้และแจกจ่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย

          สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในพื้นที่ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model เป็นการยกระดับรูปแบบการเกษตร “แบบเดิม” ที่ทำมากได้น้อย ผลผลิตต่ำ ดิน น้ำเสื่อมโทรม และสร้างมลพิษ จึงได้นำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ปรับปรุงและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้เกิด การพัฒนาและยกระดับงานส่งเสริมการเกษตรให้สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ และส่งผลให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวโดย : นันทิชา วิปุละ

#งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี