คลิปมาแรงที่สุดในวันครูปีนี้ “ที่ครูทุกคนต้องดู…”

 

 

เปิดใจทีมมิดมี่โปรดักชั่น ครุศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลฯ คว้ารางวัลชนะเลิศคลิปวันครู 2564 จากคุรุสภา

+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+

ตามที่คุรุสภา จัดประกวดสปอตวิทยุและสปอตโทรทัศน์ “วันครู” ประจำปี 2564 ในหัวข้อ “พลังครูไทยวิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิทัล” เพื่อรณรงค์ ส่งเสริม สนับสนุนให้เห็นคุณค่าของครู รวมทั้งสร้างสำนึกในพระคุณของครู ด้วยการผลิตสื่อในแนวทางสร้างสรรค์ในรูปแบบของสปอตวิทยุและสปอตโทรทัศน์ อีกทั้งเป็นเวทีในการแสดงออกถึงความรักและระลึกถึงพระคุณครู และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมงานวันครู

เมื่อประกาศผล ปรากฏว่า ผลงาน “ครูใหม่” ของทีมมิดมี่โปรดักชั่น คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับรางวัลชนะเลิศสปอตโทรทัศน์วันครู คว้าเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และเป็นทีมเดียวที่ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยในการประกวด

สำหรับ “มิดมี่โปรดักชั่น” (ซึ่งทางทีมบอกว่าหมายถึง เงียบเชียบ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีตัวตน ไม่ดัง) เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา  คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ประกอบด้วย

  1. ดั้ง – นายบุญอ้อม บุษภาค  ชั้นปี 5
  2. มิกกี้ – นายธนโชติ โกศล  ชั้นปี 5
  3. ภัทร – นายชินภัทร อินทุไร  ชั้นปี 4
  4. บีม – นางสาวมนัญชยา แสนพงษ์  ชั้นปี 4
  5. ป๋อม – นายนราวิชญ์ บัวหลาย  ชั้นปี 4

มี “ดั้ง” เป็นรุ่นพี่และเป็นผู้จุดประกายในการรวมทีม โดยรวมเพื่อน ๆ น้อง ๆ ในสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา (ค.บ.) ที่เรียนเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งทุกคนในทีมมีความใฝ่ฝันและชอบเหมือน ๆ กัน คือ อยากเป็นครู และสนใจการถ่ายภาพ เลยรวมตัวกันทำกิจกรรมอยู่บ่อย ๆ

มิกกี้ บอกว่า ทราบข่าวการประกวดสปอตวิทยุและสปอตโทรทัศน์ “วันครู” ประจำปี 2564 จากเว็บไซต์ของคุรุสภา พอเห็นหัวข้อการประกวดเลยมาปรึกษากันในทีมว่า อยากทำคลิปวิดีโอเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ อยากถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก สะท้อนจิตวิญญาณความเป็นครู และอยากยกย่องครูเนื่องในโอกาสวันครู

ที่มาของเนื้อหาในคลิป

“ดั้ง” กับ “มิกกี้”  เล่าว่า  ทั้งทีมมานั่งคุยกันว่าแต่ละคนมีประสบการณ์อย่างไรบ้างในการเรียนที่ผ่านมา  ทำให้นึกย้อนไปในวัยเด็กที่เป็นนักเรียน  ซึ่งโรงเรียนที่ตนเรียนตอนนั้นเป็นโรงเรียนที่ห่างไกล หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า “โรงเรียนบ้านนอก” โรงเรียนได้คอมพิวเตอร์มาใหม่ ๆ แต่ถูกตั้งเก็บไว้ในห้องแล้วคลุมด้วยผ้า ตนได้แต่ยืนมองผ่านประตูอยู่หลายครั้ง และแอบนึกในใจว่าอยากเห็นและสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า “คอมพิวเตอร์” ที่ถูกคลุมอยู่ในผ้านั้นเหลือเกิน  ประกอบกับทั้ง “ดั้ง” และ “มิกกี้” เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 5 ซึ่งผ่านการฝึกสอน (ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู) ในโรงเรียนต่าง ๆ มาหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่พวกตนจะเลือกออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ห่างไกลออกไป และบ่อยครั้งพบว่า ในโรงเรียนยังมีครุภัณฑ์หลายอย่าง โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และสื่อการสอนทางด้านเทคโนโลยีที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างเต็มที่ ซึ่งปัญหาอาจเกิดจากความไม่พร้อมของครู ทั้ง ๆ ที่ก่อนจะส่งมอบครุภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีการฝึกอบรมการใช้งานให้ก่อน แต่บางส่วนยังไม่กล้าใช้ เพราะ “กลัวพัง” หรือครูไม่มีเวลาเรียนรู้เพิ่มเติม เลยยังไม่ได้เริ่มสอนเด็กสักที จนทำให้เวลาล่วงเลยครุภัณฑ์หมดอายุ เป็นเหตุให้เด็ก ๆ เสียโอกาสในการเรียนรู้ที่สำคัญ

เมื่อเล่าความรู้สึกนี้ให้ทีมฟัง ทุกคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากจะถ่ายทอดความรู้สึกแบบนี้ ความรู้สึกของเด็กนักเรียนที่อยากเรียนรู้และเปิดประสบการณ์ใหม่ อยากปลุกจิตวิญญาณความเป็นครูและยกย่องครูที่มีความกล้าเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อยกระดับการศึกษาของลูกศิษย์ และเชื่อว่าพวกตนจะถ่ายทอดออกมาได้ดี เพราะตรงตามสาขาวิชาที่ศึกษาอยู่ จากนั้นจึงเริ่มวางแผนงานกัน

การถ่ายทำคลิปเป็นยังไงบ้าง?

“ฮ่า ฮ่า ฮ่า…” เสียงหัวเราะภายในทีมดังขึ้น … “ภัทร” บอกว่า พี่สองคนเขาเป็นคนกำกับครับ แล้วใช้งานรุ่นน้อง ๆ อย่างผม บีม และป๋อม

เราเริ่มคุยเนื้อเรื่องที่ต้องการสื่อในเชิงของ production เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันอย่างละเอียดขึ้น และขอข้อเสนอแนะจากอาจารย์เป็นบางครั้ง  กำหนดหน้าที่ของแต่ละคน ซึ่งจะต้องเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการทำงานชิ้นนั้นเลย เช่น  หาข้อมูลกำหนดสถานที่ถ่ายทำ  จัดหานักแสดง  เขียนบท  ช่างภาพ  ผู้กำกับ ฯลฯ  ฮืม … ตามที่เรียนมาเลยครับ

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานจริงมีมากมายครับ เช่น วันถ่ายทำ อยู่ดี ๆ ฟ้าก็ครึ้มฝนก็ตก  เวลาที่ใช้ในการถ่ายทำในบางครั้งเวลาก็ยืดยาวกว่าที่กำหนดไว้ (เกือบส่งคลิปไม่ทัน)  หรือแม้แต่ตัวนักแสดงที่ไม่สามารถมาแสดงได้  ก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป  โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้เสมือนเป็นห้องเรียนอีกหนึ่งห้องที่อยู่นอกมหาวิทยาลัย (เวลาทำงานส่งอาจารย์ยังไม่มันส์ขนาดนี้เลยครับ) นำความรู้ที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้ ถึงแม้จะมีปัญหาอุปสรรค แต่ “มิตรภาพของคนในทีม” ก็ยังสำคัญเสมอ

ส่วน “บีม” บอกว่า  “ทำงานครั้งนี้สนุกมากค่ะ  ได้แชร์ประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งใหม่ร่วมกัน”

ส่งงานแล้ว คาดหวังยังไง?

ช่วงทำ production ก็หวังลึก ๆ พอทำเสร็จก็คุยกันว่าขอติด 1 ใน 5 ก็เอาแล้ว…

ในวันที่ผลการประกวดออกมา “ดั้ง” เป็นผู้รู้ข่าวก่อนทุกคน ดีใจมาก รีบแจ้งข่าวแก่เพื่อนร่วมทีม และรีบบอกอาจารย์ในสาขา ทุกคนดีใจกันใหญ่ น้ำตาไหล ไม่คิดว่างานจะโดนใจกรรมการจน “ชนะเลิศ”

“ดีใจสุด ๆ เลยครับ” ป๋อม กล่าว

“มันคือชนะเลิศระดับประเทศนะครับ!!”

“ตอนทำเราไม่ได้สนใจเลยว่าเงินรางวัลเท่าไหร่ เราแค่อยากนำเรื่องราวประสบการณ์ของพวกเรามาเล่าให้กรรมการหรือคนอื่น ๆ ฟัง”

เมื่อถามว่า “รู้สึกอะไรอีกมั๊ย?” … “ดั้ง” ตอบว่า สุขใจที่ทำคลิปนี้ขึ้นมา และเมื่อชนะเลิศระดับประเทศ นั่นหมายความว่าจะมีคนจำนวนมากที่ได้เห็นคลิปของเรา และสุขใจที่พวกตนเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะช่วยกระตุ้นจิตวิญญาณเพื่อให้ครูกล้าที่จะเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีพัฒนาการศึกษามากขึ้น

การเรียน “ครู” มีผลยังไงในการทำคลิปนี้

“ทำให้อิน (in) ครับ”  มิกกี้ตอบทันที … ผมว่าการที่พวกเรากำลังเรียน “ครุศาสตร์” อยู่ ทำให้พวกเราเข้าใจในบทบาทและความรู้สึกของทั้งครูทั้งเด็กนักเรียนอย่างมาก เรื่องความรู้ในเรื่อง production หรือการถ่ายทำก็คงไม่ได้มีแตกต่างกับการเรียนคณะอื่นมากนัก แต่สิ่งที่เราซึมซับมาตลอดเวลาที่เรียนครุศาสตร์ คือ “อุดมการณ์”

ทีมเราทั้งทีม “อยากเป็นครู” และมีความชอบเหมือนกันคือ “ชอบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี” การเรียนครุศาสตร์ทำให้เราต้องออกฝึกสอนอยู่หลายครั้ง สิ่งเหล่านี้ช่วยบ่มเพาะพวกเราให้เข้าใจปัญหาและบริบทการศึกษาในพื้นที่ชนบท และเมื่อเราเป็นคนรุ่นหลัง (รุ่นใหม่) พวกเราเลือกที่จะลงมือหาทาง “เอาชนะปัญหาและอุปสรรค” มากกว่าการนั่งวิพากษ์ปัญหาเพียงอย่างเดียว

การมีอาจารย์ มีพี่ มีเพื่อน การเรียน การฝึกสอน และกิจกรรมนักศึกษา ช่วยให้เราซึมซับอุดมการณ์เหล่านี้ “พลังปัญญา รัก ศรัทธา และพัฒนาวิชาชีพครู”

ทิ้งท้าย ช่วยบอกหน่อยว่า “คนเป็นครู ทำไมต้องดูคลิปนี้”

“เติมไฟไงครับ” (พูดพร้อม ๆ สองสามคน ไม่รู้ใครบ้าง)

คลิปนี้ ไม่ได้ต้องการตัดพ้อ ต่อว่าคุณครู… แต่เป็นการให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจ กระตุ้นจิตวิญญาณให้เต็มเปี่ยมเหมือนกับตอนที่เพิ่งเรียนจบ ตั้งใจเป็นครูใหม่ ๆ ให้กลับมาอีกครั้ง  และให้ลองย้อนกลับไปมองมุมมองของเด็กของเราที่เฝ้ารอโอกาสอยู่

“เทคโนโลยีมีไว้ใช้ ไม่ได้มีไว้ให้กลัว”

เติมไฟให้รู้ว่าความกล้าลุยของเรา จะจุดประกายและสร้างโอกาสที่ดีให้กับ “ลูกศิษย์” ที่เรารัก

น้อมคารวะคุณครูทุกท่าน

16 มกรา’ วันครูแห่งชาติ …

สัมภาษณ์ : พงพิทักษ์ อุปไชย

เขียน : เชษฐ์ ศรีไมตรี

ขอบคุณ : http://www.guideubon.com/2.0/ubon-news/4730/