นักวิจัย ม.ราชภัฏอุบล ฯ คว้ารางวัล Bronze Award มหกรรมงานวิจัย 2566
โชว์ผลงาน พัฒนาสายพันธุ์ผึ้งด้วยเทคโนโลยี AI ยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งของประเทศ

          งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 (Thailand Research Expo Award 2023) “ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่สร้างไทยยั่งยืน” โดยสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.สุรีรัตน์ บุตรพรหม รองอธิการบดี นำทีมสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมทีมนักวิจัยร่วมจัดแสดงนิทรรศการและโชว์ผลงานวิจัย มหกรรมวิจัยแห่งชาติในครั้งนี้ นอกจากจะมีการจัดแสดงนิทรรศการงานวิจัยที่หลากหลาย ยังมีการคัดเลือกผลงานวิจัยที่ร่วมโชว์ในงานเพื่อรับรางวัลอีกด้วย

          จากการพิจารณาคัดเลือกผลงานวิจัยที่มีกระบวนการนำเสนอที่โดดเด่นในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่อสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งในงานนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้ส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมคัดเลือก ด้วยผลงานที่โดดเด่น น่าสนใจ และสามารถต่อยอดได้ ส่งผลให้งานวิจัยของ อาจารย์ ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ นักวิจัย สวก. จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีและคณะ  คว้ารางวัล Bronze Award บนเวที Highlight Stage ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 ผลงานวิจัย “การพัฒนาสายพันธุ์ผึ้งด้วยเทคโนโลยี AI (Artificial insemination) ยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งของประเทศไทย” ภายใต้โครงการ “การพัฒนาน้ำผึ้งคุณภาพดีจากสายพันธุ์ผึ้งบัคฟาสต์ เพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งของประเทศไทย สวก. มุ่งมั่นสนับสนุนทุนวิจัยเกษตร เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกรไทยทุกมิติ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี หนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกรับถ้วยรางวัลและเกียรติบัตรจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

          ดร.ประพันธ์ เล่าว่า ผลงานวิจัย “การพัฒนาสายพันธุ์ผึ้งด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งของประเทศไทย” มาจากการศึกษาผึ้งพันธุ์บัคฟาสต์ (Apis mellifera : ARDA 1) ซึ่งเป็นผึ้งพันธุ์ลูกผสมที่ได้พัฒนาขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี AI (Artificial insemination) เพื่อผลิตนางพญาผึ้งสายพันธุ์ดีโดยการใช้เครื่องผสมเทียม สามารถผลิตนางพญาสายพันธุ์ดีได้ตลอดทั้งปี โดยใช้เทคโนโลยีการผสมเทียมผลิตนางพญาผึ้งสายพันธุ์ดี จากประชากรพ่อแม่พันธุ์ผึ้ง A.m. ligustica และ A.m. carnica โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ปีงบประมาณ 2563 ผลงานวิจัยจากความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพะเยา และ บริษัทเชียงใหม่เฮลตี้โปรดักส์ จำกัด

          สำหรับผึ้งสายพันธุ์บัคฟาสต์ จะมีคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่น คือ ไข่ดก ประชากรผึ้งงานแข็งแรง ขนาดลำตัวใหญ่ เชื่อง ไม่ดุร้าย ได้ผลผลิตน้ำผึ้งสูง จากการเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่เลี้ยงจริงของ ธนชาติฟาร์มผึ้ง ในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ร่วมโครงการนำร่องการเลี้ยงผึ้งพันธุ์บัคฟาสต์ลูกผสม ในปี 2565-2566 พบว่าผึ้งสามารถเจริญเติบโตได้ดี ประชากรผึ้งงานแข็งแรง และผลผลิตน้ำผึ้งสูงกว่าสายพันธุ์เดิมที่เลี้ยงมากกว่าร้อยละ 30 เป็นที่น่าพอใจสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งเป็นอย่างมาก

          คณะผู้วิจัยมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับรางวัลการันตีความสำเร็จในครั้งนี้ เพราะวัตถุประสงค์หลัก คือ ต้องการที่จะส่งเสริม สร้างการรับรู้ และขยายผลการเลี้ยงผึ้งพันธุ์บัคฟาสต์ (Apis mellifera : ARDA 1) สู่ภาคการผลิตเชิงพาณิชย์สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งของไทยในภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มทางเลือกสำหรับเกษตรกรให้มีสายพันธุ์ผึ้งที่มีความหลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และที่ภูมิใจมากที่สุด คืองานวิจัยของพวกเราช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง “มีรายได้เพิ่มมากขึ้น” เนื่องจากสามารถเพิ่มรอบในการเก็บน้ำผึ้งไปขายได้อีกเป็นจำนวนมาก