ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ สบ.4 พิสูจน์หลักฐานจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าพิสูจน์หลักฐานจังหวัดศรีสะเกษ

ประวัติชีวิตตอนเด็ก

บ้านเกิดเป็นคนจังหวัดบุรีรรัมย์ เรียนมัธยมที่โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ตั้งแต่ ม.1 – ม. 6 ที่บ้านฐานะปานกลาง คุณพ่อรับราชการ คุณแม่ตัดเย็บเสื้อผ้าครับ

เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เข้าเรียนวิทยาศาสตร์

เมื่อก่อนจะเป็นคนชอบด้านวิทยาศาสตร์ ดูหนังเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ หนังพวก star wars/star trek อะไรแบบนี้ครับ แล้วก็ชอบอ่านวนิยายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์น่ะครับ ก็เลยมีความฝันตั้งแต่เด็ก ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะไปเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ได้ยังไง จนกระทั่งเรียนจบ ม. 6 ก็เลยสมัครเพื่อจะเรียนต่อในระดับปริญญาตรีครับ แล้วก็ไปเจอสาขาวิชาเคมี ซึ่งในขณะนั้นก็จะเรียกว่า สหวิทยาลัยอีสานใต้ จะมีจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ และอุบลราชธานี แต่ก็ไปติดใจตรงสาขาวิชาเคมี ซึ่งในช่วงนั้นเนี่ยวิทยาศาสตรบัณฑิตเคมีที่เปิด มีแค่ที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานีที่เดียว ตอนนั้นปี พ.ศ.2535 ที่อุบล ฯ เปิดอยู่ที่เดียวก็เลยเลือกเป็นอันดับ 1 ซึ่งสมัยนั้นเลือกได้ 3 อันดับ หลังจากนั้นก็สอบข้อเขียนผ่านครับ แล้วก็เดินทางมาสัมภาษณ์ที่อุบล ฯ ครั้งรีกเลยนะครับตอนนั้น นั่งรถไฟมาคนเดียว แล้วก็พ่อบอกว่า มันต้องนั่งรถเมย์ต่อนะ ก็เลยนั่งรถเมย์ขาวจากสถานีรถไฟที่วารินชำราบนะครับ พอมาลงรถที่หอนาฬิกา เดินเข้ามาในวิทยาลัย ฯ ก็จะมีต้นมะม่วงเต็มไปหมดเลย เงียบมาก อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงนั้นยังไม่เปิดเทอม ก็เข้าไปสัมภาษณ์นะครับ และแล้วก็ได้เป็นศิษย์วิทยาลัยครูอุบลราชธานีเลยตั้งแต่ตอนนั้นครับ

ชีวิตในวิทยาลัยครูอุบลราชธานี

พอเข้ามา ปี1 นะครับ มารายงานตัววันแรกผมจะเป็นเด๋อ ๆ ด๋า ๆ มาตั้งแต่วันแรกเลยครับ เพราะแม่บอกว่าที่ราชภัฏบุรีรัมย์นะ เด็กปี 1 เขาต้องใส่กางเกงสีเทา แม่ก็ตัดกางเกงสีเทาให้เลย พอผมมาที่อุบล ฯ ไม่มีใครใส่สีเทาเลย มีผมใส่อยู่คนเดียวในบรรดาเฟรชชี ก็เลยคิดว่า ไม่เป็นไร พอมาถึงก็ช่วงเดือนแรกเนี่ย โดนรับน้องก่อนเลย ในส่วนของสาขาวิชาเคมี ผมเป็น วท.บ. รุ่นที่ 2 แต่ว่า ยังมีรุ่นที่เป็น วท.บ. 2 ปีหลัง อีก 2 รุ่น แต่ผมเป็นรุ่นที่ 2 ที่เรียน 4 ปี พอไปถึงก็โดนรับน้อง 2 เดือนเต็ม ๆ พี่ ๆ เขาก็อบอุ่นมาก รับน้องตั้งแต่เช้าจนเย็น ทั้งวันทั้งคืน ออกนอกสถานที่บ้าง ซึ่งในช่วงเวลานั้นมันเป็นอะไรที่อาจจะดูแบบลำบากนิดหนึ่งในการใช้ชีวิตนะ เพราะว่าเราไม่เคยออกมาอยู่กับเพื่อน ไม่เคยเจอพี่ ๆ ที่เขาจะมาคอยสั่งให้เราทำนั่นทำนี่นะครับ ต่อมาอีก 1 ปีถึงได้รู้ว่าสิ่งที่ได้รับการกระทำนั้นน่ะ มันเป็นการหล่อหลอมเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกันในหมู่เพื่อน ในหมู่พี่น้องนะครับ

ในช่วงแรกผมพักอยู่หอในเลยครับ หอชาย 4 จตุพิมาน เพราะว่าเรามาจากต่างถิ่น เราก็ไม่รู้ว่าจะอยู่อะไรยังไง แล้วก็หอในราคาถูกครับ เทอมหนึ่ง 300 บาท คือการอยู่หอมันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในตอนนั้นนะครับ เพราะมันเป็นส่วนที่หล่อหลอมด้วยเช่นกัน เราได้ประสบการณ์จากหอพักค่อนข้างเยอะในการใช้ชีวิตนะครับ ทั้งในเรื่องของความเป็นอยู่นะครับ ตื่นแต่เช้ามาทำความสะอาด เย็นกลับมาต้องมีสวดมนต์ ก็คือมันไม่ได้เป็นห้องเหมือนปัจจุบันนะครับ มันเป็นล็อค ล็อค 1 ก็จะมีเตียง 2 ชั้น อยู่ 2 คู่ ก็จะนอนได้ 4 คน เป็นโถงยาว มีเพียงตู้เสื้อผ้าที่กั้นระหว่างเรา เราได้ฝึกเรื่องของเรื่องอาหาร ทำกับข้าว ขายของในสหกรณ์ ฝึกการใช้ชีวิตนะครับ เราจะไม่สามารถทำอะไรนอกลู่นอกทางได้มากเท่าไหร่ เพราะว่า 2- 3 ทุ่ม เขาก็ปิดประตูล็อคแล้ว

มาเรียนช่วงแรก พ่อให้เงินมาประมาณเดือนละไม่ถึง 2000 บาท ก็เป็นค่าข้าวในแต่ละวัน กว่าจะได้กลับบ้านทีก็ 1 เดือน หรือ 2 เดือนครั้ง นั่งรถไฟ ถ้าเป็นรถธรรมดา 40 บาท 4 ชั่วโมงครึ่ง ตื่นมาก็ถึงพอดี เดี๋ยวนี้ก็ยัง 40 บาทอยู่ ค่ารถไฟผ่าไป 20 กว่าปีแล้วก็ยังเหมือนเดิม

พอเรามีทั้งรุ่นพี่ที่เป็นเคมีในคณะวิทย์ แล้วก็รุ่นพี่ในหอพัก การเรียนในปี 1 เนี่ย คือ โดยรวมแล้วส่วนใหญ่ที่ได้ทำก็คือการเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำร่วมกันในหลาย ๆ ส่วน มีทั้งการเชียร์ของมหาวิทยาลัย ฯ เราก็ได้ร้องเพลงในสมัยนั้น ได้ฟังเพลงวิทยาลัยครู อุบลถิ่นคนงามนะครับ ผมว่าในช่าง ปี 1 เนี่ยมันเป็นช่วงหลอมรวมระหว่างคนที่มาจากหลาย ๆ ที่ แล้วมารวมกันที่เดียว

พอเราขึ้นปี 2 นะครับ เรากลายเป็นรุ่นพี่แล้ว เราก็มีรุ่นน้องตามมาติด ๆ เลยครับ ทีนี้สิ่งที่เราถูกปลูกฝังไว้แล้วนะครับตั้งแต่ปี 1มันก็เลยถูกถ่ายทอดตามกันมา โดยที่หลักการเรายังคงอยู่ คือในสมัยก่อน รุ่นพี่ค่อนข้างที่จะมีแนวคิดที่ลึกซึ้งหน่อย ไม่ได้คิดเอาแต่ใจนะครับ คือทุกสิ่งทุกอย่างมันมีจุดมุ่งหมายอยู่ในตัวของมันเอง เช่นว่า ถ้าน้องทำไม่ได้ สั่งให้น้องทำอะไร พี่ต้องทำได้นะครับ ถ้าน้องไม่ทำ เดี๋ยวรุ่นพี่ที่เป็นพี่รหัสจะต้องรับผิดชอบ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้เกินเลยอะไรครับ มันอาจจะดูหนักไปบ้าง แต่มันก็ช่วยปลูกฝังความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นเพื่อนนะครับ พอเราขึ้นปี 2 เราก็ได้ถ่ายทอดตรงนี้ต่อให้กับรุ่นน้องต่อไป พอมาถึงจุดนี้ เราได้เรียนรู้อะไรมาก เราก็เลยเริ่มที่จะเข้าไปทำกิจจกรรมในส่วนของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสภานักศึกษา หรือเป็นพวกชมรมต่าง ๆ ชมรมอนุรักษ์ ชมรมดาราศาสตร์ อะไรพวกนี้นะครับ ซึ่งมันพาเราไปเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมายเลยครับ ทั้ง ๆ ที่บางทีอย่างชมรมดาราศาสตร์ เราไม่ใช่เอกสาขาฟิสิกส์ เราเป็นสาขาเคมี แต่ว่าช่วงนั้นไม่มีนักศึกษาฟิสิกส์อยู่เราก็เลยไปช่วยอาจารย์ฟิสิกส์นะครับ อาจารย์ท่านก็เมตตา ก็คือสอนเราทุกอย่าง จนเราสามารถที่จะเข้าใจแล้วก็เป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียน ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ก็พาเราไปออกค่ายต่าง ๆ ให้กับโรงเรียนหลายโรงเรียนครับ ทำให้เราได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้น ท่านแรกก็คือ อาจารย์สุระศักดิ์ เลขะวัฒนะ ท่านได้เสียชีวิตไปแล้วนะครับ แล้วก็อีกท่านหนึ่งก็คือท่านอาจารย์ประสาน ชัยณรงค์ แล้วก็อาจารย์ยุตร แม้นพิมพ์ ครับ ซึ่งต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงนะครับที่ให้ความรู้ ให้ประสบการณ์ตรงนี้ครับ พอเราเข้ามาสู่ตรงนี้ ทำให้เราได้รู้จักกับผู้คนหลาย ๆ ที่ เราก็เลยมีโอกาสได้มาเป็นสภานักศึกษา ก็ลองดูว่า เราเริ่มมาคิดถึงกิจกรรมในมหาวิทยาลัยแล้วว่าเราจะสามารถช่วยเติมเต็ม หรือเพิ่มศักยภาพในการทำกิจกรรม เผยแพร่ หรือ สนับสนุนนักศึกษาในการทำกิจกรรมได้อย่างไรบ้าง เราก็เข้าไปเพื่อที่จะคอยช่วยกลั่นกรอง คอยเป็นพี่เลี้ยงบ้าง หรือว่าคอยอนุมัติงบประมาณให้กับแต่ละชมรมครับ

พอขึ้นปี 3  นักศึกษาเราก็เพิ่มมากขึ้นนะครับ แต่มันยังมีช่องสุญญากาศของนักกิจกรรมอยู่นะครับ ว่าบางคนเขาก็มีความชอบในกิจกรรมที่แตกต่างกัน แต่ว่าไม่ค่อยมีใครชอบที่จะมาเป็นผู้นำที่จะบริหารหรือทำกิจกรรมในภาพรวมเท่าไหร่ ก็เลยคุยกับทีมงานนะครับ พี่ ๆ น้อง ๆ หลายคน ได้ความเห็นว่า ผมน่าจะเหมาะที่ช่วยงานตรงนี้ได้ มาเป็นตัวแทนได้  เลยลงสมัครเป็นนายกองค์การบริหารนักศึกษา

เรียนไปด้วย ทำกิจกรรมไปด้วย มีวิธีบริหารเวลายังไง

ยากอยู่นะครับที่เราจะเรียนดี ละกิจกรรมเด่นไปด้วย เป็นอะไรที่ยาก ถ้าเราเก่งด้วยก็น่าจะโอเค แต่เราก็ยังแบบยังไม่มีเวลาอ่านหนังสือ พอมีทำกิจกรรมขึ้นมาเนี่ย เวลาเรียนเราน้อยลง แต่ว่าสิ่งที่มาช่วยเติมเต็มให้กับเรานะครับก็คือเพื่อนการมีเพื่อนที่คอยซัพพอร์ตในการเรียน ไม่ว่าจะช่วยมาติว ช่วยมาสอนการบ้าน หรือช่วยงานต่าง ๆ ที่อาจารย์สั่งมา ทำให้เรารอดได้

คือในช่วงเวลานั้นนะครับ เรามีงานกิจกรรมที่เป็นแผนที่ชัดเจนอยู่ในหลายกิจกรรม อย่างเช่น งานที่เป็นงานประเพณี ตั้งแต่ งานรับนักศึกษา งานเชียร์ กีฬา ลอยกระทง อะไรพวกนี้ มันเป็นแผนปกติของเราอยู่แล้วที่เราต้องทำนะครับ แต่ว่างานอื่น ๆ ที่นอกแผน เช่น เราอาจจะต้องไปประชุม หรืออาจจะมีกิจกรรมทางด้านการประชุมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เข้ามา ก็ได้มีโอกาสได้เจอกับนายกจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

แล้วก็อย่างที่พูดไปในก่อนหน้านี้ว่า ในสมัยนั้นมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่เป็นหลักก็คือ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี กับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งตรงนี้เรามองว่ามันเป็นมหาวิทยาลัยอุดมศึกษาที่อยู่ระดับเดียวกัน แล้วก็อยู่ในจังหวัดเดียวกันด้วย เรามาคิดว่า เราน่าจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย โดยใช้กีฬาเป็นตัวเชื่อมครับ ซึ่งที่เราคิดอย่างนี้เพราะว่าเราได้เปรียบ เนื่องจากว่าเรามีนักศึกษาเยอะ แต่เขายังไม่เยอะหลักพันอะไรอย่างนี้ แต่เราหลักหลายพัน ก็เลยไปคุยกันเพื่อที่จะจัดแข่งขันกีฬา โดยมีต้นแบบก็คือกีฬาประเพณีจุฬา – ธรรมศาสตร์ นะครับ เป็นตัวอย่างให้เราศึกษา แล้วก็นำมาใช้ในการแข่งกีฬา ตอนแรกก็จะใช้กีฬาอยู่ 2- 3 ประเภท เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล อะไรอย่างนี้ครับ มาแข่งกันก่อน เพื่อที่จะให้เราผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพเอานักศึกษา เอากองเชียร์ไป เราก็จะได้ไปเยี่ยม ม.อุบล ฯ เขาก็จะมาเยี่ยมเราอย่างนี้ครับผม พอแข่งขันกีฬาเสร็จเราก็จะทานอาหารค่ำร่วมกัน ก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ชื่อกีฬาของเราก็ตามสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ก็คือ กีฬาประเพณีกันเกรา – เทาชมพู นะครับ กันเกราก็คือดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วน เทา -ชมพู ก็เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยของเรานะครับ คือสนุกมากนะครับ แล้วก็ทาง ม.อุบล ฯ ก็ให้ความร่วมมือดีมาก ในการประชุมแล้วก็ทำงานร่วมกันครับ จนประสบผลสำเร็จอยู่หลายปีนะครับ ก็เสียดายเหมือนกัน

ปี 4 ของการเรียน วท.บ. ก็จะว่างครึ่งเทอม เพราะว่าต้องไปฝึกงาน ส่วนตัวผมเนี่ยไม่ได้ไปฝึกไกลหรอก ก็ฝึกอยู่กับอาจารย์ ทำเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยน้ำเสียในแหล่งน้ำ ในตัวเมืองอุบล ฯ ครับ คือเนื่องจากว่ามันจะจบแล้ว ก็เลยพยายามที่จะลดบทบาทในเรื่องของกิจกรรมลงไปพอสมควร มีเข้าไปชมรมนิด ๆ หน่อย ๆ ที่เข้าไปทำเพราะว่ามีใจอยากที่จะทำ อยากที่จะให้กับนักเรียน กับเด็ก ๆ ที่ชอบ ก็จะมีไปชมรมดาราศาสตร์บ้าง ไปช่วยชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้างนะครับ

พอเข้าสู่เทอมสุดท้ายก็จะเป็นเรื่องของการเรียนก็ลดน้อยลง เป็นช่วงของการเร่งทำวิจัยเพื่อที่จะนำเสนอแล้วจะจบหน่วยกิตสุดท้ายแล้ว จริง ๆ ก็ในช่วงนี้ก็จะเป็นเรื่องของการเตรียมตัวเพื่อที่จะจบนะครับ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการหางานทำละนะครับ ช่วงนี้เราจบ วท.บ. เรายังไม่รู้นะครับว่าในอนาคตเราจะเป็นยังไง รู้แต่เพียงว่า เฮ้ย เราจบวิทยาศาสตร์เคมี เราต้องไปทำงานโรงงาน เราต้องไปอยู่แลป ดูแลแลป ไปดูโรงงานอุตสาหกรรมนะครับ ซึ่งเรามีรุ่นพี่ที่คอยรอรับเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้องแลปยา ในบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีรุ่นพี่เบิกร่องไว้อยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่า เราจะพรีเซ้นท์ตัวเองยังไง ก็มีหลายเรื่อง หลายปัจจัยที่จะทำให้เราได้ หรือไม่ได้ในหลาย ๆ เรื่อง

เป็นมายังไงถึงได้มาเป็นตำรวจพิสูจน์หลักฐาน

ก็เล่าถึงการหางาน ปัจจัยที่จะทำให้เราได้ หรือไม่ได้งานมันมีผลมากจริง ๆ นะครับ เราต้องมีการวางแผนนะครับ โดยเฉพาะผู้ชาย เรื่องสำคัญเรื่องแรกก็คือเรื่องการเกณฑ์ทหาร อันนี้สำคัญมากเลย เวลาเราจะไปทำงานเอกชน ซึ่งพอเราจบมันจะอายุ 21 – 22 ปี พอดี นะครับ ซึ่งอยู่ในช่วงนั้นพอดี ถ้าเราไม่ผ่านจุดนี้ไปด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ก็จะไม่มีโอกาสได้ทำงานแน่นอน เขาไม่รับแน่นอน อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเองก็พลาดโอกาสในชีวิตอยู่พอสมควร ผมเองไม่มีโอกาสได้ไปทำงานในบริษัทเอกชนเลย เพราะได้เรียน รด. เลย ผ่อนผันมาโดยตลอด พอถึงเวลาสมัครงาน กรอกว่ายังไม่เกณฑ์ทหาร เขาก็จะขีดชื่อออกเลย หมดสิทธิ์เลย ผมก็เลยไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี ก็ใช้เวลาหลังจากจบมาแล้วประมาณ 2 – 3 เดือน ก็เลยหันมาทางรับราชการด้วยนะครับ ก็เลยสมัครเป็นครูด้วย มาสอบครูด้วย แล้วก็ในช่วงเวลานั้นมีรับสมัครตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งได้ท่านอาจารย์จินตนา อาจารย์ที่ห้องเคมี ท่านแนะนำมาว่า ลองไปดูนะ เนี่ยตรงนี้เขามีสมัครตำรวจ สมัยก่อนเราไม่เรียกว่า พิสูจน์หลักฐาน เขาเรียกว่าเป็น ตำรวจวิทยาการ เขารับ วท.บ. เคมี ฟิสิกส์ ผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง แต่ว่าอาจารย์ท่านว่าลองไปสมัครดู ซึ่งอาจารย์ท่านก็เมตตา บอกไปหลายคนเลย แต่ว่าทุกคนกระจัดกระจายกันหมด มีผมกับเพื่อน 2 คนที่อยู่บ้าน ที่ได้รับไปรษณียบัตร ผมอยู่พอดีเลย ก็เลยได้ไปสมัคร 2 คน แล้วก็มีรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง ผมเป็นรุ่นที่ 2 ที่ทำงานนี้

เข้ามาทำงานพิสูจน์หลักฐานเป็นยังไง ทำงานที่ไหนมาบ้าง

ครั้งแรกก็คือ พอได้บรรจุแต่งตั้งเนี่ย ก็มีให้เลือกอยู่ 20 คน 20 แห่ง ผมก็เลยเลือกที่ใกล้บ้านที่สุดครับ ก็เลยเลือกมาลงที่อุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ที่เราคุ้นชินกับพื้นที่อยู่แล้วนะครับ ก็คิดว่าน่าจะทำงานได้สะดวกกว่าที่อื่น ก็เลยเลือกมาลงที่อุบล ฯ แล้วก็ได้ไปอบรมที่กรุงเทพ ฯ เพิ่มเติมนิดหนึ่ง ประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นเราก็เข้าที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจอีกประมาณ 3 เดือน แล้วก็มาฝึกเป็นผู้ชำนาญการในการตรวจพิสูจน์หลักฐานอีก 1 ปี ก็ได้ใบเซอร์เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ในการตรวจอาวุธปืน ก็คือเป็นผู้ชำนาญการในด้านการตรวจอาวุธปืน ซึ่งชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ก็เลยได้มีโอกาสมาทำ เป็นที่ลงตัวมาก ๆ ทำงานอยู่ที่อุบลราชธานีทั้งหมด 9 ปี จนกระทั่งยศเป็น ร้อยตำรวจเอก และก็ได้ขึ้นเป็นสารวัตรอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีนะครับ ตรงนั้นเป็นศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 ก็เริ่มทำงานเฉพาะด้าน เรื่องอาวุธปืนอย่างเดียว จนกระทั่งปี พ.ศ.2555 ก็ได้มีโอกาสลงไปปฏิบัติหน้าที่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส 2 ปี ซึ่งตรงจุดนั้นก็ได้เห็นภาพและก็ได้ประสบการณ์อะไรหลาย ๆ อย่างที่เห็นมุมมองต่าง ๆ เรามานั่งคิดแต่ว่า ด้วยตัวเราเองแล้วเนี่ย คนเดียวก็คงไม่สามารถไปช่วยแก้ไขปัญหาอะไรได้ ก็ 2 ปี ก็ทั้งทำงานเป็นผู้ตรวจด้วย แล้วก็เป็นวิทยากรคอยถ่ายทอดหลาย ๆ อย่างให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ หลังจากนั้นก็ได้กลับขึ้นมาที่ปทุมธานีอีกรอบหนึ่งครับ แล้วก็ได้มีโอกาสทำคดีสำคัญหลาย ๆ คดีอยู่ตรงจุดนั้น หลายเรื่องก็เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ครับ เนื่องจากตรงเขตปริมณฑณและกรุงเทพ ฯ เจอคดีทั้งการเมือง ทั้งม็อบ ระเบิด เพลิงไหม้ใหญ่ ๆ เจอมาหมดแล้ว ก็เก็บไว้เป็นประสบการณ์ชีวิตนะครับ คอยสอนน้อง ๆ ไป พถึง จุด ๆ หนึ่ง ก็เลยได้ย้ายไปพิสูจน์หลักฐานสมุทรปราการก็เป็นการออกจากหน่วยใหญ่ครั้งแรก เพื่อที่จะไปเป็นหัวหน้าระดับจังหวัดนะครับ ทีนี้ สิ่งต่าง ๆ ก็ต้องทำเองทั้งหมดแล้ว ไม่มีคนมาช่วยแล้วครับ ก็เลยอยู่สมุทรปราการ 1 ปี ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี อยู่จังหวัดที่ใหญ่ขึ้นด้วย มาดูแลมาปรับปรุงอะไรต่าง ๆ อยู่อุบล 1 ปี 9 เดือน นะครับ ก็ได้ย้ายมาทำงานที่ศรีสะเกษ ซึ่งนายก็บอกว่าทำดีแล้ว ก็ต้องย้ายมาทำพัฒนาที่ใหม่ให้มันดีกว่าเดิม มองในแง่ดีคือนายไว้ใจ มอบหมายภารกิจให้เราได้ทำ

งานพิสูจน์หลักฐานมันสำคัญยังไงต่อกระบวนการยุติธรรมยังไง

ปัจจุบันนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องความสำคัญของนิติวิทยาศาสตร์ งานพิสูจน์หลักฐานเป็นความสำคัญลำดับแรก ของกระบวนการยุติธรรมเลยนะครับ เนื่องจากว่าหลักฐานต่าง ๆ มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มันชี้ไปทางไหนมันก็ไปอย่างนั้น มันไม่สามารถที่จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นเขาถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดแล้ว มากกว่าบุคคลด้วยซ้ำไปนะครับ

พี่เอาประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ยังเรียนอยู่ เอามาใช้กับงานแบบไหนบ้าง

ในช่วงเรียนเรียนหนังสือเนี่ย กิจกรรมต่าง ๆ มันทำให้เราได้ประสบการณ์ พอมาอยู่ในจุดนี้แล้ว หลาย ๆสิ่งมันทำให้มันง่ายขึ้นนะครับ มันเหมือนกับว่าเราเคยผ่านมาแล้ว เรามีประสบการณ์แล้ว กิจกรรมเนี่ยมันช่วยทั้งในเรื่องของการทำงาน ช่วยในเรื่องของประสบการณ์ ช่วยในเรื่องของการคอนแทก คอนเนกชันต่าง ๆ ได้ทุกอย่างเลยครับ สามารถนำมาใช้ในการทำงานได้ทุกอย่างเลย

มองกลับไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีของเรา ภาพลักษณ์หรือ สิ่งที่เห็นทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เห็นนะครับ ผมก็ติดตามมาโดยตลอด ทั้งในเพจของมหาวิทยาลัย และสื่อต่าง ๆ ผมว่าข้อแตกต่างในปัจจุบันตอนนี้ก็คือเรื่องของความทันสมัย อาคาร หรือว่ามีเทคโนโลยี มีอาจารย์ที่เพิ่มมากขึ้นนะครับ แล้วก็เมื่อดูจากสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำอยู่ตอนนี้คือเห็นชัดเจนนะครับ คือเรื่องของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ที่เห็นจริง ๆ นะครับ ทางท่านอธิกรบดีท่านทำอะไรเยอะมาก ออกงานเยอะมาก คือผมว่ามันก็เป็นก้าวกระโดดแล้วจากสมัยก่อน สมัยก่อยก่อนอุปกรณ์การเรียน นักศึกษา หรือตึกอะไรต่าง ๆ มันก็ไม่ได้มี แต่เดี๋ยวนี้มีทุกอย่าง พร้อมมาก ๆ และเหมาะที่จะเป็นสถานที่ที่เราจะเข้าไปศึกษาหาวิชาความรู้ครับ ลูกผมยังไปเรียนเลยครับ

อยากจะฝากถึงน้อง ๆที่ยังไม่เลือกสาขาวิชา และน้อง ๆ ที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์

ผมว่าในอนาคตนะครับ เรื่องของวิทยาศาสตร์มันเป็นอะไรที่จะต้องงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ นะครับ ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์มันก็ยังมีความจำเป็นต่อไป มันจะมีอะไรแปลกใหม่เรื่อย ๆ นะครับ วิทยาศาสตร์มันไม่มีอะไรหยุดนิ่งสักครั้ง มันจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เมื่อมันเป็นเหตุผลแบบนี้ การดำเนินการอื่น ๆ การงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ ทางอุตสาหกรรม หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ คือมันเติบโตไม่หยุดอยู่แล้วนะครับ การที่เราได้มาเรียนวิทยาศาสตร์เนี่ย ผมว่ามันก็เป็นโอกาสอย่างหนึ่งของเราที่มีมากในอนาคต ก็ถ้าใครที่สนใจมาเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ ถ้าชอบก็ยิ่งจะทำได้ดียิ่งขึ้นไปในด้านการงานที่สูงนะครับ ส่วนถ้าจะมาเป็นตำรวจพิสูจน์หลักฐานนะครับ งานของเราก็จะเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์ ด้านนี้คืองานที่เราจะต้องดำเนินการ แต่เป็นงานวิทยาศาสตร์ที่ช่วยเหลือกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะผู้เสียหาย หรือว่าชาวบ้านที่เดือดร้อนจากอาชญากรรมต่าง ๆ เราจะไปช่วยเขาแก้ไข หรือว่าสืบเสาะแสวงหาหลักฐานหรือข้อเท็จจริงมาใช้กับคนที่เป็นคนผิดต้องได้รับโทษนะครับ ส่วนผู้บริสุทธิ์ก็สามารถที่จะยืนยันตัวเองว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ ใครที่ว่าอยากจะมาทำงานด้านนี้นะครับ นอกจากเรื่องงานแล้ว การทำให้คนอื่นด้วยก็เป็นสิ่งที่สำคัญ