อ้อยใจ มินธาดา ปักษาพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี คว้ารางวัลชนะเลิศ การแข่งขันศิลปะปูนปั้นประเทศไทย จากความพยายามเข้าร่วมแข่งขันมาร่วม 4 ปี ประสบความสำเร็จจากภาพปั้นหัวข้อ “ตามรอยครูช่างสมัยอยุธยา” ชื่อผลงาน “ภาพพระบฏอยุธยา” เธอเล่าว่า ในขณะที่ปั้น เธอรู้สึกกดดัน เนื่องจากเวลามีจำกัด และงานปูนปั้นเป็นงานที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จากเด็กบ้านนอกที่มีความฝัน สู่ศิลปินคนหนึ่ง
มีภูมิลำเนาเป็นคนที่ไหน
มีภูมิลำเนาอยู่ที่ บ้านแสงน้อย หมู่ 11 อำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานีค่ะ
ตอนเด็ก ๆ มีอะไรที่ชอบ หรือเล่นตั้งแต่เด็กไหม ที่เป็นแรงบันดาลใจ
ตอนเด็กก็จะชอบเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปวัว รูปควายเล่นค่ะ
ค้นพบตัวเองยังไงว่าชอบงานศิลปะ รวมถึงมีใครสนับสนุนไหม
ก็มีโอกาสได้ไปแข่งขันค่ะ ตอนแรกได้ไปแข่งเขียน เพนท์ก่อนปีแรก หลัง ๆ เลยได้เปลี่ยนเป็นงานปั้น สมัยเด็กก็จะเป็นปั้นดินน้ำมันหลากหลายสี แต่ก็ไม่ได้รางวัลใหญ่อะไร แค่ชนะเลิศระดับเขต รู้สึกว่าตัวเองชอบงานปั้นมากกว่าตั้งแต่แรกเลยลุยต่อทางด้านนี้ค่ะ
จบ ป.6 แล้วไปเรียนต่อที่ไหน
จบ ป.6 ได้ไปเรียนต่อที่ ร.ร.นารีนุกูล 2 อาจารย์ก็ได้เล็งเห็นความสามารถของเรา ก็ได้ให้ไปแข่งขันจิตรกรรมไทยประเพณี ไปแข่งขันครั้งล่าสุดก็ได้รางวัลแค่ระดับภาคค่ะ
ช่วงที่ตัดสินใจไปเรียนต่อที่ อาชีวะอุบล
ตอนแรกก็ไม่ได้วางแผนอะไร ถ้าจะไปเรียนก็คือไปเลย ก็บอกแค่ว่าตัวเองชอบงานศิลปะ ที่อาชีวะอุบลมีสาขานี้ เลยลองสอบเข้าดู แล้วก็สอบผ่านเข้าไปเรียนค่ะ
ที่บ้านพ่อแม่ไม่ว่าใช่ไหมที่เรียนต่อศิลปะ ไม่เรียนต่อ ม.4
ไม่ว่าค่ะ แล้วแต่เราเลย
เรียนที่อาชีวะ 3 ปี ได้อะไรบ้าง
เข้าไปใหม่ ๆ ก็ไม่ค่อยมีความรู้อะไรเลย ช่วง ปี 1 ได้มีโอกาสแข่งปูนปั้นครั้งที่ 17 ได้รางวัลชมเชย มีงานแกะเทียนก็ไปช่วย ที่สวนสัตว์อุบลก็ไปช่วย ปี 3 ได้มีโอกาสไปแกะหิมะที่เมืองฮาบิล และก็มีโอกาสได้ไปแข่งขันปั้นรูปเหมือน ได้รางวัลชนะเลิศระดับภาคอีสาน และได้ไปแข่งระดับประเทศได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ค่ะ
แต่ละงานมีความยากง่ายต่างกันยังไง
น้ำแข็งต้องรีบทำ รีบแกะ เพราะจะลายค่ะ ส่วนดินเหนียวต้องปั้นไปด้วยพรมน้ำไปด้วย เพราะถ้าปล่อยไว้นานจะแข็ง ดินน้ำมันปั้นได้เรื่อย ๆ เลย ปูนต้องทำให้เสร็จเลย จะเก็บรายละเอียดตรงไหนต้องเก็บให้เสร็จในตอนนั้นเลย เพราะปั้นแล้วมันจะแห้ง แก้เหมือนดินน้ำมัน ดินเหนียวไม่ได้ ปั้นแล้วจบงานเลยค่ะ
เล่าบรรยากาศการปั้นน้ำแข็งให้ฟังหน่อย
ตอนแรกต้องสเก็ตงานและทำโมเดลก่อนค่ะ เริ่มแรกอาจารย์จะประชุมกันกับทีมก่อนว่า แบบนี้จะแก้ตรงไหนจะปรับตรงไหนเป็นแบบลงตัวแล้วค่อยซ้อม ตอนซ้อมจะใช้ดินทรายผสมกับปูนปลาสเตอร์ เอาให้คล้ายกับหิมะที่สุด แต่ก็แกะยากกว่าหิมะอยู่ดีเพราะมันแข็งกว่า เนื้อต่างกัน แต่ใช้เครื่องมือเดียวกัน
ทำไมถึงเลือกเรียนประติมากรรม ไม่เรียนจิตรกรรม
ส่วนตัวเป็นคนชอบปั้นตั้งแต่สมัยเด็กอยู่แล้วค่ะ เลยคิดว่าตัวเองทำงานได้ดีกว่าจิตรกรรม ได้พื้นฐานมาจากที่เรียนที่อาชีวะอุบลมาหมดเลย
ทำไมถึงเลือกเรียน มรภ.อุบล ฯ
ตอนเรียนอยู่ ปวช.3 ตอนแรกก็ไม่รู้จะเรียนต่อที่ไหนดี จะเรียน กทม. ก็คิดถึงบ้าน ก็เลยมองมาที่ มรภ.อุบล ฯ ว่ามีสาขาที่อยากเรียนไหม ก็เลยมาสมัครเพื่อเข้าเรียนต่อ เพื่อนส่วนหนึ่งก็เรียนเพาะช่างกัน มีเพื่อนมาเรียนที่นี่ด้วยกัน 3 คนค่ะ
เรียนที่ มรภ. อุบล ฯ เป็นอย่างไรบ้าง ต่างจากอาชีวะไหม
ต่างอยู่นะคะ เรียนที่นี่จะสอนในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ จะให้โจทย์มาแล้วเราก็จะตีโจทย์แล้วทำงานส่ง อาจารย์ก็จะคอมเม้นท์ ให้เราพรีเซนงาน แต่ที่อาชีวะจะมีแบบตั้งไว้ให้เราปั้นตามมากกว่า
ความแตกต่างกันตรงนี้มันทำให้เราพัฒนาอะไรขึ้น หรืออะไรที่เจ๋งขึ้น
สิ่งที่พัฒนาก็คืองานเราจะแตกต่างมากขึ้น งานที่อาชีวะจะเป็นงานแบบคัดลอกส่วนใหญ่ มาที่นี่จะเป็นแนวความคิดมากขึ้น ใส่จิตวิญญาณลงไปมากขึ้น ส่วนใหญ่จะทำงานเกี่ยวกับ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่น เป็นหน้าเรา แต่เป็นโครงกระดูกสะท้อนให้เห็นถึงโลกนี้ไม่มีอะไรจีรัง
เล่าเรื่องตอนไปแข่งศิลปะปูนปั้นในแต่ละครั้งให้ฟังหน่อย
ไปครั้งแรกเราไม่มีพื้นฐานอะไรเลย ไม่รู้เลยว่าอุปกรณ์แต่ละชนิดใช้ยังไง ตอนแรกก็ต้องออกแบบสเก็ตงาน ปั้นโมเดลไปก่อน ปูรูปทรงก่อน
รางวัลที่ได้รับครั้งแรกคือรางวัลชมเชย ครั้งที่ 2 ร่วมแสดงผลงาน ครั้งที่ 3 ร่วมแสดงผลงาน ครั้งที่ 4 ชนะเลิศ
ส่วนมากแพ้กันที่แนวความคิดและการจัดวางองค์ประกอบค่ะ
เล่าให้ฟังหน่อย ตอนแข่งคิดยังไง มีความท้าทายอะไร
ตอนแรกเลยบริษัทที่จัดการแข่งขันก็จะพาไปสัมมนา ไปศึกษาดูงานก่อน เกี่ยวกับศิลปะอยุธยานี่ล่ะค่ะ ไปดูวันนู้นวัดนี้ หลาย ๆ วัด พอได้โจทย์มาหนูก็เลยมาคิดว่า มันมีงานไหนสมบูรณ์บ้าง ที่จะนำมาคัดลอกได้ ก็เห็นพระบทม์นี่แหละค่ะที่น่าจะสมบูรณ์ที่สุด องค์ประกอบที่ดีที่สุดเพราะว่าซ้าย ขวา เท่ากัน ก็เลยลองปั้นโมเดลขึ้น มาก่อน และส่งไปยังเพจปูนปั้น แล้วเขาจะคัดเลือกอีกทีหนึ่ง ถ้าได้เข้ารอบก็จะได้ไปปั้นที่นู่น ในเวลาที่ทำ 5 วัน ตอนนั้นกดดันตัวเองมากเลยค่ะ คือเราห่างจากงานมานานแล้วด้วย ช่วงโควิดก็ไม่ได้จัดการแข่งขันมา 2 ปีแล้ว ไม่ได้ปั้นมานานแล้วค่ะ เพิ่งมาจัดปีนี้ และก็ไม่ค่อยได้จับปูนด้วย กลัวจะไม่เสร็จด้วย 5 วันผ่านไปเร็วมากค่ะ
มีเทคนิคในการปั้นยังไง ทำยังไงให้ตัวเองมีความสุข
คือปล่อยชิว ๆ ไปเลยค่ะ ตามสบายเลย อะไรจะเกิดก็เกิดไปเลยค่ะ คิดแค่ว่าเราทำให้มันเต็มที่ที่สุดแค่นั้น จะได้ไม่เสียใจ ปีนี้เหมือนจะไม่ค่อยมีตัวเต็งสักเท่าไหร่ ไม่ค่อยมีคนเก่งเท่าไหร่ ถ้าคนที่เก่งก็จะอายุเกินไปแล้ว เพราะแข่งตามช่วงอายุด้วย
ตอนประกาศรางวัลว่าได้ที่ 1 รู้สึกยังไง
ร้องไห้ค่ะ ไม่เคยได้รางวัลใหญ่กับเขาสักที ตั้งแต่แข่งมา 3 ปี เขาจะประกาศเรียงจากแสดงผลงาน จนเหลือ 2 คนสุดท้าย ตอนนั้นได้ที่ 1 หรือ 2 ก็ดีใจ เพราะไม่คิดว่าจะเข้ามาได้ขนาดนี้ค่ะ
เป้าหมายต่อไปในอนาคตวางแผนไว้ยังไง
แนวทางของปี 4 คิดว่าจะทำผลงานเกี่ยวกับคนจรจัด คนเก็บขวดขาย ที่คนทั่วไปอาจจะมองว่าขวดเป็นขยะ แต่กับเขาคิดว่าขวดเป็นเงินเป็นทองค่ะ
ได้รางวัลแล้วทำให้มั่นใจขึ้นไหม
ไม่เลยค่ะ คิดว่าทุกอย่างมันไม่แน่นอน
มีความใฝ่ฝันในอนาคตว่าอยากเป็นอะไร
ความใฝ่ฝันอยากเป็นครูด้วย เป็นศิลปินด้วย อยากเป็นครูสอนที่อาชีวะค่ะ อยากปูพื้นฐานให้เด็กก่อน เด็กที่เรียนด้านนี้จะได้เข้าเรียนต่อมหาลัยอย่างมีคุณภาพมากขึ้นค่ะ
ว่าง ๆ ศิลปินทำอะไรกันบ้าง
เวลาว่างส่วนใหญ่จะเลี้ยงวัวที่บ้าน ชอบเลี้ยงวัวเลี้ยงควายค่ะ ซ้อมงานปั้นบ้าง แล้วก็ชอบฟังเพลงลูกทุ่งทั่วไปค่ะ
มีอะไรอยากฝากถึงน้อง ๆ เยาวชนที่ฝันอยากเป็นศิลปินไหม
ก่อนอื่นเลยนะคะ เราก็ต้องมองตัวเราเองให้ออกด้วยว่าเราชอบอะไร ถนัดอะไร ถ้าคิดไม่ออก มีวิธีคิดง่าย ๆ เลย คือมองสิ่งรอบตัวเรานี่แหละว่าเราชอบอะไรมากที่สุด เอาความเป็นตัวตนของเรามานำเสนอ ความเป็นธรรมชาติมานำเสนอ แค่นั้นเอง นี่วิธีคิดของหนูค่ะ