“พิพิธภัณฑ์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว : เมืองเรืองแสง” ผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่คว้ารางวัล “ชนะเลิศ” จากการประกวด "Museum Pool Contest 2021” ภายใต้แนวคิด “จากวิถีชีวิตท้องถิ่น สู่พิพิธภัณฑ์ออนไลน์” โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นแคมเปญที่มุ่งหวังร่วมกันสร้างข้อมูลนำชมอัตลักษณ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นด้วยแอปพลิเคชันมิวเซียมพู (Museum pool) สู่การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็นแต่ละภาค ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีทีมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ 11 แห่ง ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 76 ทีม สร้างสรรค์ผลงานพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันมิวเซียมพูล เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียงแค่ 13 ทีมเข้าชิงชนะเลิศสุดยอดพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ “Museum Pool Contest 2021” ซึ่ง “ทีมเมืองเรืองแสง” นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ก็เอาชนะใจคณะกรรมการคว้ารางวัล “ชนะเลิศ” มาครองได้สำเร็จ
น.ส.จิตรา มุทาวัน “ฟ้า” หัวหน้าทีมเมืองเรืองแสง เจ้าของผลงาน “พิพิธภัณฑ์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว” บอกว่าจุดเริ่มต้นของการร่วมงานกันของสมาชิกในทีมครั้งนี้เกิดจากเห็นโพสต์ประชาสัมพันธ์ของเพจ NECTEC Thailand ถือเป็นโอกาสของพวกเราเป็นปีสุดท้ายที่จะได้ทำงานร่วมกัน ถ้าเรียนจบไปแล้วก็คงจะหวนคิดถึงบรรยากาศแบบนี้ ประกอบกับที่เรียนในสาขาวิชาภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ผลงานมีความหลากหลายทางภาษา ในตอนแรกสมาชิกในทีมมีกันอยู่แค่ 3 คือ น.ส.ณัฐกมล นามวา “ปิ๊คนิก” และนายสายันต์ มิ่งมูล “เตวิน” ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเดียวกันทำกิจกรรมร่วมกันตลอด เลยตกลงร่วมกันว่าอยากลองเข้าแข่งขันดูสักครั้ง อย่างแรกเลยคือปรึกษาอาจารย์ ดร.จารุณี อนุพันธ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ พอได้ทราบข้อมูลว่ารูปแบบการแข่งขันเป็นเชิงท่องเที่ยว อาจารย์ก็ได้หารือกับอาจารย์อาภารัตน์ ประทีปะเสน อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการ เพื่อนำนักศึกษาทั้งสองสาขาวิชาร่วมทีมกันเข้าแข่งขัน ซึ่งจะได้ทั้งทางด้านการท่องเที่ยวและภาษาที่ตอบโจทย์กับนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย ในที่สุดก็ได้ตัวแทน 2 คน จากสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการ คือ นายวรดนัย สุพสุข “แมน” และ น.ส.ชุติกาญจน์ กาญจนพัฒน์ “ฝ้าย” เข้ามาร่วมทีม
หลังจากที่การรวมตัวกันเสร็จสมบูรณ์ก็สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน "Museum Pool Contest 2021” ได้รับโจทย์แรกให้จัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ในแอปพลิเคชันมิวเซียมพูล (Museum Pool) ภายใต้แนวคิด “จากวิถีชีวิตท้องถิ่น สู่พิพิธภัณฑ์ออนไลน์” จึงหารือร่วมกันในทีมและปรึกษาอาจารย์ ก็ตกลงกันว่าเลือก “วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว” เป็นพื้นที่เป้าหมาย เหตุผลที่เลือก “วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว” เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและคนทั่วไปที่เดินทางมาเมืองดอกบัวแห่งนี้ คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ “วัดเรืองแสง” ตั้งอยู่ที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง จำลองสภาพแวดล้อมมาจากวัดป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาส บริเวณบนยอดเขาจะมองเห็นพระอุโบสถสีปัดทองตั้งเด่นเป็นสง่า จุดเด่นของวัดคือการเรืองแสงเป็นสีเขียวของต้นกัลปพฤกษ์ในยามตะวันลับขอบฟ้า เป็นจิตรกรรมที่อยู่บนผนังด้านหลังของอุโบสถ ซึ่งหากโชคดีก็จะมองเห็นดวงดาวมากมายเต็มท้องฟ้าอีกด้วย นอกจากความสวยงามของอุโบสถแล้ว ยังมีจุดชมวิวทิวทัศน์แม่น้ำโขงมองเห็นฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และด่านสากลช่องเม็กอย่างสวยงาม รวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่อยู่บริเวณเชิงเขาคล้ายกับทะเลสาบ ในยามเย็นชมพระอาทิตย์ตกดินดวงโตรายล้อมด้วยบรรยากาศที่สวยงาม สำหรับต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสง เป็นฝีมือการออกแบบของช่างคุณากร ปริญญาปุณโณ ผู้ลงมือติดโมเสกแต่ละชิ้นด้วยตัวเอง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากต้นไม้แห่งชีวิต ในภาพยนตร์เรื่องอวตาร โดยใช้สารเรืองแสง หรือ สารฟลูออเรสเซนซ์รอบต้น ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่รับแสงในตอนกลางวัน และส่องประกายแสงในตอนกลางคืน ทำให้ต้นกัลปพฤกษ์ดูเหมือนมีชีวิตชีวา รอให้นักท่องเที่ยวมายล
ส่วนตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง สปป.ลาว เสาแต่ละต้นลงลวดลายด้วยมือเป็นลายดอกบัวและสัตว์ในนวนิยายตามคติบัว 4 เหล่า นอกจากความสวยงามและโดดเด่นของสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีกิจกรรมที่วัดร่วมกับชุมชนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติวิถีชุมชน หวังที่จะนำเสนอความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน “พิพิธภัณฑ์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว : เมืองเรืองแสง”
“แมน” นายวรดนัย สุพสุข และ “ฝ้าย” น.ส.ชุติกาญจน์ กาญจนพัฒน์ เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ฝ่าด่านทดสอบรอบคัดเลือกจาก 76 ทีม ผ่านเข้ารอบ 13 ทีมสุดท้าย รู้สึกดีใจมากเพราะนอกจากจะเอาชนะคู่แข่งแล้ว ยังเอาชนะตัวเองจากแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามาเยอะมาก และการลงพื้นที่ในแต่ละครั้งก็ต้องพบเจอกับปัญหาที่แทบจะไม่ซ้ำเดิมเลยสักครั้ง พอเข้ามาในรอบชิงชนะเลิศที่ต้องเจอกับทีมที่ผลงานเด่น ๆ และยังต้องเจอกับโจทย์ใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม คือ “community based tourism” หรือการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ใช้ในการตัดสินการแข่งขัน พอได้รับโจทย์ใหม่ทีมก็เริ่มประชุมและวางแผนการทำงานกันใหม่อีกครั้ง เพราะในครั้งนี้จะทำงานยากขึ้นรายละเอียดเพิ่มมากกว่าเดิม แต่ก็ยังมาในทางของการท่องเที่ยวอยู่ แมน กับ ฝ้าย ซึ่งมาสายตรงสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการ มีประสบการณ์ในการจัดทำทัวร์มาก่อน เลยเป็นหลักให้กับทีมในการหาข้อมูลและกำหนดสถานที่ในการจัดทำโปรแกรมทัวร์โดยชุมชนเพื่อชุมชน
“ฟ้า” หัวหน้าทีมเล่าต่ออีกว่า การทำงานในรอบนี้ต้องใส่ใจในรายละเอียดมากกว่าเดิมเพื่อให้ผลงานออกมาดีและสมบูรณ์ที่สุด มีการแบ่งหน้าที่ทำงานชัดเจน “แมน” และ “ฝ้าย” ทำหน้าที่หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อจัดทำโปรแกรมทัวร์ให้ตรงตามโจทย์ “community based tourism” ซึ่งคิดทัวร์ในธีม “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม” ท่องเที่ยวตามครรลองของชุมชนชาวสิรินธร สอดแทรกธรรมะกับวิถีชีวิตชุมชนสอดคล้องกับวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว คิดว่าสิ่งที่โดดเด่นในทีมที่ต่างจากทีมอื่นคือการรูปแบบทริปท่องเที่ยวได้จริง ระบุวันเวลา และราคาชัดเจน ซึ่งทีมอื่นไม่ได้ทำในส่วนนี้ โดยลงพื้นที่ชุมชนอยู่หลายครั้งในการหาข้อมูลเชิงลึก หลังจากที่ได้ข้อมูลและสถานที่ชัดเจนแล้วก็จะเป็นหน้าที่ของ “เตวิน” ช่างภาพหลัก ซึ่งเป็นความชอบและพื้นฐานในการถ่ายภาพและการตัดต่อดีพอสมควร และมี “ปิ๊คนิก” เป็นผู้ช่วยในการบันทึกภาพ ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ซึ่งผลงานภาพถ่ายที่อยู่ในแอปพลิเคชันมิวเซียมพูล “พิพิธภัณฑ์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว : เมืองเรืองแสง” เป็นผลงานของสองคนนี้ทั้งหมดเลย ส่วนการเขียนและการเรียบเรียงข้อมูลต่าง ๆ ก็จะเป็นหน้าที่ของ “ฟ้า” เป็นผู้เรียบเรียง ก็ใส่ใจในความเป็นพื้นถิ่น “อีสาน” เสียงบรรยายก็จะมี 3 ภาษา เพิ่มความแปลกใหม่และน่าสนใจในการเข้าชมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันมิวเซียมพูล
กว่าจะได้มาซึ่งความสำเร็จก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคกันมานานัปการ เพราะการแข่งขันในครั้งนี้ใช้เวลาถึง 6 เดือน (ส.ค. 64-ม.ค.65) ด้วยระยะเวลาที่นานพอสมควรปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางจึงมีมากมาย ทั้งการคาบเกี่ยวของฤดูกาล เวลาที่ต้องลงพื้นที่ร่วมกันเพราะบางคนต้องออกฝึกประสบการณ์ ปัญหาการไม่เข้าใจกันของสมาชิกในทีม และก็มีการถ่ายทำและแก้ไขงานอยู่หลายครั้ง แต่พวกเราก็ผ่านพ้นสถานการณ์ต่าง ๆ มาได้เพราะมี อาจารย์ ดร.จารุณี อนุพันธ์ อ.อาภารัตน์ ประทีปะเสน และ อ.ชลชญา ศรไชย เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำในการทำงานและแก้ไขปัญหาอยู่ตลอด ส่งผลให้เกิดความเข้าใจและความเชื่อมั่นของทีมกลับมาเป็นทีมเวิร์กเดินหน้าทำงานเต็มที่ผลงานก็เลยออกมาดีที่สุด ความสำเร็จในครั้งนี้ได้มาจากทุกคนในทีม “พิพิธภัณฑ์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว : เมืองเรืองแสง” ชนะเลิศสุดยอดพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ “Museum Pool Contest 2021”
กิจกรรมในครั้งนี้ได้ประสบการณ์เยอะมาก ทั้งฝึกความอดทน ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร ความตรงต่อเวลา ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้เป็นอย่างดี ดีใจที่ในวันนั้นไม่ปฏิเสธตัวเองเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และภูมิใจที่เราได้พยายามอย่างเต็มที่จนประสบความสำเร็จในฐานะ “นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี” ช่วยเหลือชุมชนเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูล ส่งเสริมการท่องเที่ยวในสถานการณ์ปัจจุบัน
รับชมผลงานของทีม “พิพิธภัณฑ์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว : เมืองเรืองแสง” ในแอปพลิเคชันมิวเซียมพูล (Museum Pool) ระบบจัดการข้อมูลพิพิธภัณฑ์แบบเครือข่าย แอปพลิเคชันเดียวที่สามารถเข้าชมได้ทุกพิพิธภัณฑ์ในเครือข่าย ดาวน์โหลดใช้งานได้แล้ววันนี้ ทั้ง iOS และ Android
ข่าว/เรียบเรียง : พงพิทักษ์ อุปไชย