เรื่องนี้ต้องดัง!! ทีมวิจัย ม.ราชภัฏอุบล ฯ

ค้นพบผึ้งพันธุ์ใหม่ของโลก ณ อุทยานภูจอง

ปัจจุบันการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ ๆ ในโลกใบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องเพราะก่อนหน้านี้ป่าหรือพื้นที่ลึกลับต่าง ๆ ในโลก ล้วนถูกบุกเบิกทั้งจากนักเดินทาง และนักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มาโดยตลอด ดังนั้น การที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง ๆ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์หนุ่ม ๆ จะค้นพบสัตว์หรือแมลงสายพันธุ์ใหม่ของโลกในวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และทุกครั้งล้วนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก และที่น่าภาคภูมิใจที่สุดก็คือสิ่งที่ค้นพบใหม่นี้ ถูกค้นพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จังหวัดอุบลราชธานี และค้นพบโดยอาจารย์-นักวิทยาศาสตร์หนุ่มชาวอุบลราชธานี แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่ง Guide Ubon ได้รับเกียรติให้เปิดเผยเรื่องนี้เป็นที่แรกก่อนที่จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อไปในวันที่ 24 มีนาคม นี้

จุดเริ่มต้นเรื่องนี้เกิดขึ้นจากโครงการวิจัย เรื่อง “ท่องเที่ยวเมืองรอง อุบลราชธานี เที่ยวได้ทั้งปี : ท่องเที่ยวธรรมชาติ วัฒนธรรม และสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน” ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. นั่นเอง โครงการวิจัยนี้มี อาจารย์ ดร.ประพันธ์  ไตรยสุทธิ์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นหัวหน้าโครงการ และมีคณาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนักวิจัยจากหน่วยงานภายนอก อาทิ คุณอุไรวรรณ  คชสถิตย์ จากศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี ร่วมทีมวิจัย นอกจากวัตถุประสงค์งานวิจัยตามชื่อโครงการแล้ว งานนี้ยังได้ศึกษาสภาพและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อำเภอนาจะหลวย ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้การอนุญาตและสนับสนุนของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อสามปีกว่าที่ผ่านมา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ขณะที่ อ.ดร.ประพันธ์  พร้อมด้วยอาจารย์ท่านอื่นในสาขาวิชาชีววิทยาและนักศึกษาผู้ช่วยวิจัย กำลังสำรวจพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย  โดยขณะที่ อาจารย์ ดร.ประพันธ์  กำลังให้ความสนใจรังของแมงมุมฝาปิดโบราณในบริเวณทางลาดเข้าสู่แก่งกะเลา ก็สังเกตไปเห็นท่อสีเหลือง ๆ ยื่นออกมาจากผาดิน ลักษณะเหมือนเป็นยางไม้ ก็เลยส่องดูและพบว่ามีผึ้งโผล่หน้าออกมา จึงรีบหยิบเอาโทรศัพท์มือถือมาถ่ายภาพเอาไว้ทัน จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และส่งภาพให้อาจารย์ของตนคือ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยตรวจสอบ

จากนั้นเดือนต่อมา อ.ดร.ประพันธ์ และ นายยงยุทธ  แก้วพาปราบ  ผู้ช่วยวิจัย  ตัดสินใจเดินทางกลับไปสำรวจภูจองอีกครั้ง เพื่อจะให้ได้ตัวผึ้งเป็น ๆ กลับมาศึกษาในห้องปฏิบัติการ (ห้องแลป) โดยใช้ความพยายามนั่งเฝ้าปากทางเข้ารังของผึ้งนานหลายชั่วโมง เริ่มแต่เวลาประมาณบ่ายโมงและมาประสบผลตอนเกือบห้าโมงเย็น ที่พบผึ้งและสามารถนำมาถ่ายภาพและตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ในห้องแลปได้สำเร็จ เป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นและเปรียบเทียบกับผึ้งสายพันธุ์ต่าง ๆ ในโลกนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น

เดือนพฤศจิกายน 2562 อ.ดร.ประพันธ์ และนักศึกษาสาขาวิชาชีววิทยา พร้อมด้วยนักวิจัยจากแลปผึ้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทีมกลับเข้าไปในภูจองนายอยอีกครั้ง เพื่อสำรวจบริเวณใกล้เคียงที่พบผึ้งครั้งแรกและตามเส้นทางอื่น ๆ ทำให้ได้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก และจากการใช้เวลาตรวจสอบมากกว่า 2 ปี ด้วยการทบทวนเอกสารวิชาการ ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาทั่วโลก จึงสรุปได้ว่าผึ้งที่พบที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอยนี้เป็นผึ้งชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อน โดยทีมผู้ค้นพบให้ชื่อตามภาษาไทยว่า “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง”

Guide Ubon ถาม อ.ดร.ประพันธ์ ว่า “เหตุใดจึงตั้งชื่อว่าผึ้งหยาดอำพันภูจอง ทำไมไม่ใช้ชื่อนักวิทยาศาสตร์ บุคคลที่ค้นพบ หรือทีมวิจัย?”

อ.ดร.ประพันธ์ ให้เหตุผลว่า “การตั้งชื่อสัตว์สายพันธุ์ใหม่ เราควรให้เกียรติสถานที่ที่เขาอยู่อาศัย และลักษณะเด่นเฉพาะที่งดงามของเขา จะทำให้คนสนใจในสถานที่ที่ค้นพบและต่อยอดเศรษฐกิจในพื้นที่จะดีกว่าครับ ผมหรือนักวิจัยเป็นเพียงคนที่เอาเขามานำเสนอ ผึ้งเขามีอยู่ของเขาตรงนั้นอยู่แล้ว”

ผึ้งหยาดอำพันภูจอง (phuchongensis)  คำว่า “phuchong-” มาจากชื่ออุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จังหวัดอุบลราชธานี ที่เป็นสถานที่พบผึ้งชนิดนี้เป็นครั้งแรก ส่วน “-ensis” เป็น suffix ภาษาละติน หมายถึง “originating in”

ผึ้งหยาดอำพันภูจอง อาศัยอยู่ในรังบนผาดิน จะใช้ยางไม้ในการสร้างรังและปากทางเข้ารัง โดยเฉพาะยางต้นเหียง หรือยางเหียง ที่ขึ้นในป่าเต็งรัง มีมากในอุทยานแห่งชาติภูจอง ตอนที่ทีมวิจัยเจอรังผึ้งเป็นช่วงที่แสงแดดส่องกระทบรังผึ้ง สีเหลืองอำพันระยิบระยับ เพศเมียจะมีเหล็กใน (sting) ใช้สำหรับป้องกันตัว ซึ่งมีพิษอยู่เล็กน้อย สามารถต่อยได้หลายครั้ง ต่างจากผึ้งพันธุ์ที่ให้น้ำหวานที่จะต่อยครั้งเดียวแล้วผึ้งจะตายไปเนื่องจากสลัดเหล็กในออกไม่ได้ ปกติผึ้งหยาดอำพันภูจองจะไม่ต่อยคนหากไม่ถูกรบกวนมากจนเกินไป ขณะที่เพศผู้ หลังจากออกจากดักแด้ จะมีบทบาทเฉพาะการสืบพันธุ์กับเพศเมียจากนั้นก็จะตายไป ในรัง ๆ หนึ่งของผึ้งหยาดอำพันภูจอง จึงมีเฉพาะผึ้งเพศเมียเพียงตัวเดียวที่ทำหน้าที่ทุกอย่างตั้งแต่สร้างรัง วางไข่ และออกหาอาหารให้กับลูก ผึ้งหยาดอำพันภูจอง (Phujong resin bee) หรือ Anthidiellum (Ranthidiellum) phujongensis n. sp. เป็นผึ้งเฉพาะถิ่นในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย และพบได้เพียงที่เดียวเท่านั้นบนโลกนี้

จากการสำรวจของทีมวิจัยจากสาขาวิชาชีววิทยา มากกว่า 24 ครั้ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย โดยเฉพาะบริเวณพลาญป่าชาดที่สามารถพบผึ้งชนิดหลายชนิดมาหากินในเขตนี้นั้น ทีมวิจัยไม่พบผึ้งตามบริเวณดอกไม้ แต่พบรังผึ้งเท่านั้นและการนำรังมาทดลองเพาะเลี้ยง บริเวณที่พบรังเป็นบริเวณผาดินตัดตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งทำเลที่เหมาะสมสำหรับการสร้างรังจะต้องมีความชื้นสูง อยู่ใกล้แหล่งน้ำ แล้วตัวผึ้งจะเข้าใช้บริเวณโพรงที่มีอยู่ก่อน เช่น โพรงดินที่เคยเกิดจากการสร้างรังของแมงมุมดินโบราณ

การค้นพบผึ้งหยาดอำพันภูจองคงไม่เกิดขึ้น หากคนที่พบผึ้งในวันนั้นไม่ใช่ อ.ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอาจารย์-นักวิทยาศาสตร์หนุ่มที่สนใจศึกษาและวิจัยเรื่องผึ้งมาโดยตลอด ทำให้เมื่อเห็นรังโดยความรู้และสัญชาตญาณทำให้เกิดความสงสัยและหาคำตอบทันที อ.ดร.ประพันธ์ เป็นคนอุบลราชธานี และนับเป็นลูกหม้อของสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาชีววิทยา จากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้ทำงานอยู่พักหนึ่งก่อนจะได้รับทุนกาญจนาภิเษกสมโภช ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาวิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มี รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผึ้งและโรคของผึ้งที่นิยมเลี้ยงกันในภาคเหนือ บริเวณเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน ระหว่างเรียนก็ได้ทำงานในบริษัทเอกชนในสายงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน ทำให้ได้ฝึกฝนและเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งอย่างครบวงจร หลังจากจบการศึกษาแล้วได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอก กองทุนรัชฏาภิเษกสมโภชน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำวิจัยอยู่ห้องแลปผึ้งของ ผศ.ดร. ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้งพื้นเมือง ผึ้งป่าในธรรมชาติ ที่แตกต่างจากผึ้งเลี้ยงที่ผลิตน้ำหวาน และได้กลับเข้ามารายงานตัวเริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในเดือนตุลาคม ปี 2560

นอกจากนี้ อ.ดร.ประพันธ์ ยังร่วมกับเพื่อน ๆ ที่เป็นอาจารย์และนักวิจัยร่วมกันตั้งบริษัทในรูป Startup ขึ้นมา โดยรับทุนสนับสนุนจากโครงการ Youth Startup Fund กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากงานวิจัย นำองค์ความรู้จากความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์ นับเป็นนักวิทยาศาสตร์หนุ่มที่น่าจับตามองและสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวอุบลราชธานี และวงการนักวิทยาศาสตร์ของไทย

ข่าว : เชษฐ์ ศรีไมตรี, พงพิทักษ์ อุปไชย

ภาพ : ประพันธ์  ไตรยสุทธิ์, วรพล พวังคาม

รวม Link ลิงก์ข่าวผึ้งสายพันธุ์ใหม่ของโลก ผึ้งหยาดอำพันภูจอง
————————–
ช่อง 7CH : ฮือฮา ค้นพบ ผึ้งหยาดอำพัน สายพันธุ์ใหม่ของโลก … สามารถติดตามต่อได้ที่ : ข่าวGreen Report : ฮือฮา ค้นพบ ผึ้งหยาดอำพัน สายพันธุ์ใหม่ของโลก (ch7.com)
————————–
ไกด์อุบล : คนอุบลฯ สร้างชื่อเสียง!! ทีมวิจัย ม.ราชภัฏอุบล ฯ ค้นพบผึ้งสายพันธุ์ใหม่ของโลก ตั้งชื่อตามภาษาไทยว่า #ผึ้งหยาดอำพันภูจอง เป็นผึ้งเฉพาะถิ่นในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย พบได้เพียงที่เดียวเท่านั้นบนโลกนี้!! … สามารถติดตามต่อได้ที่ : http://www.guideubon.com/2.0/ubon-news/phuchongensis/
————————–
มติชนออนไลน์ : ทีมวิจัย ม.ราชภัฏอุบล ฯ ค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลก ให้ชื่อ “หยาดอำพันภูจอง” ตามสถานที่เจอ … สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.matichon.co.th/region/news_3250112
————————–
เดลินิวส์ออนไลน์ : สายพันธุ์ใหม่หนึ่งเดียวในโลก!ค้นพบ ‘ผึ้งหยาดอำพันภูจอง’ อช.ภูจองนายอย … สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/888289/
————————–
อีสานเดลี่ : ทีมวิจัย ม.ราชภัฏอุบล ฯ ค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลก ที่ อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย … สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.esandailyonline.com/105626
————————–
นสพ.เสียงภูพาน : อุบลราชธานี – ทีมวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ค้นพบผึ้งสายพันธ์ใหม่ของโลก “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี … สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.siengphupan.com/news/25111
————————–
Thai PBS NEWS : มรภ.อุบล ฯ พบผึ้งชนิดใหม่ของโลก “หยาดอำพันภูจองนายอย… สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://news.thaipbs.or.th/content/313935
————————–
ไทยรัฐออนไลน์ : ค้นพบผึ้งชนิดใหม่ของโลก “หยาดอำพันภูจอง” ในอุทยานฯ ภูจองนายอย… สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.thairath.co.th/news/local/2349952
————————–
Workpoint TODAY : ไทยพบผึ้งชนิดใหม่ของโลกที่ จ.อุบลราชธานี ตั้งชื่อ “หยาดอำพันภูจอง” … สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://workpointtoday.com/phujong-resin-bee/
————————–
MCOT News : ผึ้งสายพันธุ์ใหม่ของโลก ผึ้งหยาดอำพันภูจอง … สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.mcot.net/view/Mtiw572x
————————–
today line me : “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” ผึ้งชนิดใหม่ของโลก เฉพาะถิ่นอุบล ฯ … สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://today.line.me/th/v2/article/0MQlKkG
————————–
โพสต์ทูเดย์ : นักวิจัยค้นพบผึ้งหายาก 2 ชนิดใหม่ของโลก “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” และ “ผึ้งบุษราคัมภูจอง” … สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.posttoday.com/pr/679097
————————–
ช่อง 8 : พบผึ้งหายาก 2 ชนิดใหม่ของโลก “ผึ้งหยาดอำพันภูจอง” และ “ผึ้งบุษราคัมภูจอง” … สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.thaich8.com/news_detail/106802
————————–