ม.ราชภัฏอุบล ฯ คว้ารางวัล “Bronze Award” มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๗
ผลงานระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

          สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๗ (Thailand Research Expo 2024)” ครั้งที่ ๑๙ ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๗ มี นางสาวศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยจัดให้มีการนำเสนอผลงานวิจัย ทั้งในภาคบรรยาย (Oral presentation) และภาคโปสเตอร์ (Poster Presentation) ใน ๖ กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย งานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยด้านสังคม คุณภาพชีวิตและความมั่นคง การวิจัยด้านการศึกษา การวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การวิจัยด้านการเกษตร พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การวิจัยด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนและเริ่มต้น

          มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา มูลสิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา นำทีมสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ร่วมจัดแสดงนิทรรศการและโชว์ผลงานวิจัย ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๗” (Thailand Research Expo 2024) โดยส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมประกวดพร้อมจัดบูธนิทรรศการ ๒ ผลงาน คือ

๑. ผลงานวิจัย “การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอ เมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี” (ผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปิยา ทาปทา)

๒. ผลงานวิจัย “การพัฒนากระเป๋าประคบร้อนสมุนไพรระบบไฟฟ้าลดอาการปวดหลังส่วนล่าง” (ผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี นนทพจน์)

ซึ่งผลงานวิจัย “การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอ เมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี” คว้ารางวัล “Bronze Award มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติในครั้งนี้

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปิยา ทาปทา ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า การวิจัยเรื่อง การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์กระบวนการเกิดเครือข่ายการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดสุปัฏนาราม วรวิหาร แบ่งออกเป็น ๓ โครงการวิจัยย่อย ประกอบด้วย

โครงการวิจัยย่อย ๑ : วิเคราะห์หมวดหมู่ ออกแบบและพัฒนาฐานข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร

โครงการวิจัยย่อย ๒ : ปริวรรตคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

โครงการวิจัยย่อย ๓ : จดหมายเหตุคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร มรดกศรัทธาของคณะสงฆ์และทายก ทายิกา ในอดีต

โดยมีคณะนักวิจัยที่ร่วมดำเนินโครงการ ฯ พระปกรณ์ ชินวโร (ปุกหุต)  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปิยา ทาปทา  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญชู ภูศรี  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขวัญสุปณัฏฐ์ พันธ์เกษม  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิติราช พงษ์เฉลียว  อาจารย์วรนุช ศรีพลัง  อาจารย์นันทยุทธ์ ละม้ายจีน  นายณัฐพงค์ มั่นคง  นายภิญโญ พรหมสวัสดิ์  และนายหริรักษ์  โสภา

วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร เป็นวัดสังกัดธรรมยุติกนิกาย แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานีด้วย มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับทางคณะสงฆ์ส่วนกลาง จึงปรากฏมีการใช้หรือสร้างคัมภีร์ใบลานเส้นพิมพ์เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่า มีคัมภีร์เส้นพิมพ์ ๖๖ มัด สมุดไทยเส้นพิมพ์ ๕ ฉบับ คัมภีร์ใบลานเส้นพิมพ์ที่มีอายุเก่าที่สุดของวัดสุปัฏนาราม วรวิหาร คือ คัมภีร์ลานเทียม (กระดาษ) เรื่องทศชาติชาดก ของโรงพิมพ์ศึกษาธรรมดา พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐

คัมภีร์ที่ปรากฏส่วนมากเป็นคัมภีร์จากสำนักพิมพ์ หรือโรงพิมพ์ต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๐ – ปัจจุบัน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นคัมภีร์จัดพิมพ์โดยพระบรมวงศานุวงศ์ หน่วยงานภาครัฐ และคัมภีร์อันเนื่องในพระมหาเถระแห่งคณะธรรมยุติกนิกาย อันสอดคล้องกับความเป็นวัดธรรมยุต โดยคัดเลือกคัมภีร์เส้นพิมพ์ของวัดสุปัฏนาราม ในกลุ่มหลังนี้ มาจัดแสดง เน้นที่คำบันทึกผู้สร้างพระคัมภีร์ ซึ่งมีสำนวนโวหารที่ไพเราะ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นวรรณกรรมที่มีการสืบทอดจากล้านช้างเข้าสู่ภาคอีสานและเผยแพร่ในวัด สุปัฏนาราม วรวิหาร มีการใช้ศัพท์ สำนวนในภาคอีสานเป็นพื้น ส่วนวรรณกรรมสำนวนภาคกลาง คือ วรรณกรรมที่มีการนำเข้าจากต่างถิ่น ประกอบไปด้วย ๑) ปุพเพกตปุญญตากถา ๒) สังยุตตนิกาย ฉคาถาวรรค และ ๓) พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ วรรณกรรมทั้ง ๓ เรื่องเป็นสำนวนไทย ซึ่งเรื่องปุพเพกตปุญญตากถา และสังยุตนิกาย ฉคาถาวรรค บันทึกด้วยตัวอักษรธรรมอีสาน แต่ใช้สำนวนไทย ส่วนพุทธานุสติ ให้อักษรขอมบันทึก และบันทึกด้วยสำนวนไทย

วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร มีคัมภีร์ใบลาน ๑๔๒ มัด มีจำนวนผูก ๒,๙๑๑ ผูก ซึ่งสามารถจำแนกได้ ๕ อักษร ดังนี้

๑) อักษรขอมจำนวน ๕๒๔ มัด

๒) อักษรธรรมอีสานจำนวน ๒๕๐ มัด

๓) อักษรไทยน้อยจำนวน ๒ มัด

๔) อักษรไทยจำนวน ๒,๑๓๔ ผูก

๕) อักษรโรมันจำนวน ๑ ผูก

คัมภีร์ใบลานวัดสุปัฏนาราม วรวิหาร มีลักษณะพิเศษ คือ มีคัมภีร์ใบลานล้านช้าง สร้างโดยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. ๒๑๘๑-๒๒๓๘) โดยมีการออกพระนามว่า “สมเด็จบรมบพิตรพระมหาธรรมิกราชาธิราชเจ้า” (บาลีทสชาดก ผูก ๒, จารเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๑) จากนั้นพบใบลานที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ ตามลำดับ โดยเฉพาะใบลานที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ จะพบว่าเป็นคัมภีร์ใบลานอักษรขอมจำนวน ๒๙ มัด ซึ่งคัมภีร์ใบลานอักษรขอม ลักษณะของเส้นจารมีลักษณะสวยงาม ส่วนคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมเริ่มมีลักษณะผสมผสานระหว่างรูปแบบการเขียนแบบเดิมของอีสานและรูปแบบการเขียนแบบสยาม กล่าวคือ เริ่มมีวรรณยุกต์ใช้ในเอกสารใบลาน นอกจากนี้จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ยังมีวรรณกรรมท้องถิ่นที่ยังไม่มีการปริวรรต  เช่น ไก่น้อย (ดาวลูกไก่) พระเชตพน (สำนวนร้อยกรอง) พระนาคเสน (สำนวนร้อยกรอง) เป็นต้น จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ใบลานวัดสุปัฏนาราม วรวิหาร มีความโดดเด่นทางด้านประวัติความเป็นมาของใบลาน อักษรจารึก อักษรที่ใช้จาร และมีเนื้อหาใบลานที่ยังไม่มีการปริวรรต ชำระ จึงควรมีการจัดทำวิจัย พร้อมกับเผยแพร่คัมภีร์ใบลานเพื่อการสืบค้นผ่านระบบออนไลน์

          หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวต่อว่า สำหรับผลงานวิจัย “การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอ เมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี” ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดพร้อมจัดแสดงนิทรรศการ ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๗ (Thailand Research Expo 2024)” ครั้งที่ ๑๙ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้ได้รับรางวัล Bronze Award ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวง อว. พร้อมเงินรางวัลและเกียรติบัตร ถือเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนตัวแล้วนับเป็นเกียรติประวัติอันดีงามและภาคภูมิใจ ที่ได้มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่เมืองอุบลราชธานี

#มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี