ม.ราชภัฏอุบลฯ อัพ-เลเวล ความเสมอภาคทางเพศ
ตอกย้ำมหาวิทยาลัยแห่งความสุข

          “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้โลกแคบลง แต่วิธีคิดของสมาชิกในโลกใบนี้กลับเปิดกว้างขึ้น วันนี้รู้สึกเป็นตัวเองเต็มที่ ไม่ถูกลิดรอนสิทธิเมื่อได้มาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างด้านสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย มีความสุขในการมาเรียนเพราะรู้สึกไม่ต้องปิดกั้นการเป็นตัวเองค่ะ” คำพูดของ “วิหวาน” วรรณภัสสร ธูปเศษ นักศึกษาปี 2 คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ภายหลังรับทราบการประกาศใช้ข้อบังคับ ฯ ของมหาวิทยาลัยในประเด็นส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศของนักศึกษาและบุคลากร

          มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เดินหน้ายืนยันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และตอกย้ำการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ของคนทุกเพศ ประกาศใช้ “ข้อบังคับมหาวิทยาลัย ฯ ว่าด้วย ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศของบุคลากรและนักศึกษา” ต้อนรับปีการศึกษาใหม่ โดยสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีให้ความเห็นชอบเมื่อการประชุมครั้งที่ 3/2567 ที่ผ่านมา

          รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์  ละอองนวล  รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า “การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุข สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะประเด็นความเสมอภาคทางเพศ หนึ่งในเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาติ (SDGs) ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมแก่เพศหญิงและเพศชาย ลดการเสียเปรียบของเพศหญิงและไม่เลือกปฏิบัติในการคัดเลือกบรรจุเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ฯ เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยก็เปิดโอกาสให้บัณฑิตที่เข้าร่วมพิธี ฯ สามารถแต่งกายชุดครุยได้ตามเพศสภาพของตนเอง ดังนั้นในครั้งนี้ เราเปิดกว้างยกระดับขึ้นไปอีกขั้น มุ่งสู่การให้ความเสมอภาคต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ทุกคน

          รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ เล่าต่อว่าการดำเนินการนี้ยึดหลักการที่ว่า “บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีพึงปฏิบัติต่อบุคคลเพศชาย บุคคลเพศหญิง หรือบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ หรือเพศวิถีไม่ตรงกับเพศกำเนิด โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมทางเพศ และต้องไม่กระทำการใดที่เป็นการกลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง หรือลดทอนคุณค่าของบุคคล เพราะเหตุแห่งเพศ เพศสภาพ หรือเพศวิถี รวมถึงการแสดงอคติทางเพศที่ไม่เคารพในสิทธิและเสรีภาพของบุคคล”

          รายละเอียดเชิงรูปธรรมของการดำเนินการนี้ อาจารย์เชษฐ์  ศรีไมตรี  รองอธิการบดี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยกร่างข้อบังคับ ฯ และเลขานุการสภามหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า “จากหลักการสำคัญที่รักษาราชการแทนอธิการบดีว่าไว้ข้างต้น ในข้อบังคับนี้เรายกระดับความเสมอภาคทางเพศให้ชัดเจนขึ้นเป็นประเด็น ๆ อีก 4 เรื่อง ประกอบด้วย

          เรื่องที่ 1 การแต่งกายในการเรียนและทำงาน นักศึกษาที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด สามารถแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักศึกษาปกติตามเพศสภาพได้ กรณีนักศึกษาที่ต้องออกฝึกงานหรือฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการต่าง ๆ นั้น ให้สวมใส่ชุดฝึกงานตามแบบที่สถานประกอบการกำหนด หรือตามแต่เหตุและกรณีที่มีความจำเป็นของแต่ละกรณี

          ส่วนอาจารย์หรือบุคลากรที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด สามารถแต่งกายชุดเครื่องแบบปฏิบัติงานหรือชุดเครื่องแบบในการเข้าร่วมพิธีการต่าง ๆ หรือแต่งกายชุดสุภาพในการปฏิบัติงานตามเพศสภาพของตนได้ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิผลของการปฏิบัติงานประกอบ

          เรื่องที่ 2 การแต่งกายเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร บัณฑิตที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด สามารถแต่งกายชุดครุยวิทยฐานะเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามเพศสภาพของตนได้ ซึ่งในแต่ละครั้งจะทำเป็นประกาศมหาวิทยาลัยหรือแนวปฏิบัติชี้แจงให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

          เรื่องที่ 3 รูปภาพประจำตัวติดเอกสารราชการของมหาวิทยาลัย นักศึกษาและบุคลากรที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ใช้รูปภาพที่แต่งกายตามเพศสภาพของตนติดบัตรประจําตัว หรือติดในเอกสารอื่นใดที่ออกโดยมหาวิทยาลัยได้

          เรื่องที่ 4 การระบุคำนำหน้านาม ประเด็นนี้คือการทำบัตรประจําตัวหรือการให้บริการทางด้านเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของนักศึกษาหรือบุคลากร ที่มิได้เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับเอกสารทางราชการอย่างมีนัยสําคัญ จะไม่ระบุคํานําหน้านามที่แสดงถึงเพศก็ได้

          เรื่องที่ 5 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็นบุคลากรมหาวิทยาลัย กำหนดว่าการประกาศรับสมัครและการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็นบุคลากรมหาวิทยาลัย จะต้องไม่นําลักษณะเฉพาะทางเพศ เพศสภาพ หรือเพศวิถี มากำหนดเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามเฉพาะ เว้นแต่ลักษณะงานมีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของเพศหรือมีความจำเป็นต้องใช้เพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ

          ทั้งนี้มหาวิทยาลัยต้องขอขอบคุณสภามหาวิทยาลัย และคณะกรรมการยกร่าง ระเบียบ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ที่ส่งเสริมและสนับสนุนในการจัดทำและเห็นชอบการประกาศใช้ข้อบังคับ ฯ นี้ จนสำเร็จได้ด้วยดี

          ภายหลังการประกาศข้อบังคับนี้ นักศึกษาหลายคนต่างยินดีและให้ความเห็น เช่น

          “นันท์” ชญานันท์ สาริพันธ์ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ ฯ ปี 3 และ “ปอ” พิมพ์ลภัส โคตรเมือง นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ฯ ปี 4 ที่บอกว่า “รู้สึกดีใจ และขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบล ฯ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคนทุกเพศสภาพ ได้แต่งกายตามที่เราต้องการ จากที่เคยไม่มั่นใจว่าควรแต่งกายแบบไหน? แต่งแบบนี้จะเป็นยังไง? คนจะมองยังไง? ก็ทำให้เรามั่นใจมากขึ้น มีความสุขกับการมาเรียน มหาวิทยาลัยแห่งนี้คือมหาวิทยาลัยแห่งความสุขจริง ๆ”

          ส่วน “มาร์กี้” ยุทธนา ไชยศรี  และ “ยู” สราวุฒิ มะยม  สองนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ ฯ ปี 2 เห็นว่า “ทุกวันนี้โลกมันเปิดกว้างมาก ๆ แล้วค่ะ เมื่อโลกเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตามโลก ปรับความคิด ปรับบริบท ปรับทัศนคติ การที่มหาวิทยาลัยเปิดกว้างเรื่องเพศสภาพและการแต่งกายตามเพศสภาพนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเราชาว LGBTQ ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพแบบไหน ร่างกายแบบไหน สีผิวแบบไหน นั้นคือตัวตนของเรา  รู้สึกภูมิใจและดีใจค่ะที่ได้มาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ The Next Level มหาวิทยาลัยของเราต้องเดินหน้าและไปต่อค่ะ ขอบคุณค่ะ” สอดคล้องกับ “โดนัท” รมิตา สัตย์ธรรม คณะบริหารธุรกิจ ฯ ปี 2 ที่กล่าวเสริมปิดท้ายเช่นเดียวกัน

          ในฐานะการเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่มุ่งพัฒนากำลังคนเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมและชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีมุ่งพัฒนาทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมทางสังคมสู่ความเท่าเทียม เพื่อให้สมาชิกทุกคน ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม เพื่อบรรลุเป้าหมาย “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข”

ข่าว/ภาพ : งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี