“ดอกพะยอม” ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี  

เมื่อพูดถึง “พะยอม” น้อยคนนักที่จะรู้จักพันธุ์ไม้ชนิดนี้ เนื่องจากในปัจจุบันพันธุ์ไม้ชนิดนี้กำลังเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ

สำหรับวัยรุ่นสมัยใหม่อาจจะเคยได้ยินเพียงแค่ชื่อเท่านั้น แต่ไม่เคยเห็นต้น ไม่เคยเห็นดอก

น่าเสียดายหากวันหนึ่ง “พะยอม” จะกลายเป็นพันธุ์ไม้หายากทั้งๆ ที่พะยอมเป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมที่มีประโยชน์มากมาย

อีกทั้งรูปก็งาม นามก็เพราะ และมีกลิ่นหอมไปพร้อม ๆ กัน เพราะฉะนั้นแล้วเรามาทำความรู้จักพันธุ์ไม้ชนิดนี้ให้มากขึ้นกันเถอะ

“พะยอม” มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Shorea roxburghii G.Don เป็นไม้ผลัดใบขนาดกลางถึงใหญ่ สูงประมาณ 15-20 เมตร

จัดอยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae เป็นพวกเดียวกันกับยางนา พะยอมมีชื่อท้องถิ่นที่เรียกแตกต่างกัน คนภาคกลางเรียกพะยอม

ภาคเหนือเรียกพะยอมดง หรือเชียงใหม่เรียกกะยอม ภาคอีสานเรียก “ขะยอม” ภาคใต้เรียก “ยอม” เป็นต้น

“พะยอม” มีความสำคัญสำหรับเราคือ พะยอมเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ภายในมหาวิทยาลัยของเรามีต้นพะยอมเติบโตกระจายอยู่หลายแห่ง และหลายต้นอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากตัวท่านเลย

นั่นก็คือบริเวณรอบหอประชุมไพรพะยอม และด้วยเหตุนี้เองน่าจะเป็นที่มาของชื่อหอประชุม “ไพรพะยอม”

ในฤดูหนาวของปีนี้ต้นพะยอมเริ่มสลัดใบทิ้ง และหลังจากทิ้งใบหมดต้นแล้ว ก็จะเริ่มเห็นใบอ่อนสีเขียวสวยงามแตกออกมาใหม่

พร้อมกับการออกดอก  ในช่วงที่ผ่านมาอุณหภูมิลดลงอย่างมากทำให้มีอากาศหนาวเย็นในยามเช้า

ส่งผลให้ในปีนี้ต้นพะยอมออกดอกมากเป็นปรากฏการณ์ ภาพที่ชาวราชภัฏเห็นคือดอกพะยอมบานสะพรั่ง

เป็นช่อดอกสีขาวนวลเต็มต้นเรื่อยมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2562 จนถึงเดือนมกราคม 2563

กล่าวได้ว่าพวกเราชาวราชภัฏอุบลไม่ได้เห็นพะยอมออกดอกพร้อมกันหลาย ๆ ต้นเช่นนี้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อพะยอมออกดอกบานเต็มต้นจะมีความโดดเด่นเนื่องจากออกดอกเป็นช่อใหญ่ตามซอกใบและปลายกิ่ง

ช่อดอกยาวราว 30 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยแต่ละดอกจะห้อยหัวลง ดอกมีสีขาวนวลอมเหลืองอ่อน

กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร โดยประมาณ กลีบดอก 5 กลีบ บิดเวียนเป็นเกลียวตามเข็มนาฬิกา

มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในยามเช้ามืดและยามเย็น หากท่านใดยังไม่ได้แวะชมความงามของดอกพะยอมรอบ ๆ

บริเวณหอประชุมไพรพะยอม ท่านยังมีเวลาได้ชื่นชมความสวยงามของดอกพะยอมภายในมหาวิทยาลัยอีกประมาณ 2 เดือน

เพราะพะยอมยังออกดอกไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และหลังจากนั้นไปพะยอมจะเริ่มติดผล

โดยผลเป็นรูปกระสวยปลายแหลม มีปีก 5 ปีก (สั้น 2 ปีก ยาว 3 ปีก) ในช่วงเวลานั้นเราก็จะได้เห็นภาพสวย ๆ

จากต้นพะยอมอีกครั้งหนึ่งเมื่อผลมีปีกของพะยอมต้องลมแล้วปลิวไปได้ไกล ๆ จนตกลงสู่พื้น

“พะยอม” เป็นพืชที่มีคุณค่ามาก ในอดีตเราใช้ประโยชน์จาก “พะยอม” ในหลาย ๆ ด้าน

เช่น ดอกอ่อนของพะยอมใช้ปรุงอาหารนำมาลวกทานกับน้ำพริก ทำยำ ใส่ในแกงส้ม หรือผัดกับไข่ เปลือกใช้ฟอกหนัง

ยางหรือชันใช้ยาเรือ เนื้อไม้มีความเหนียวแข็งแรงจึงนิยมใช้ทำเครื่องมือและใช้ในการก่อสร้าง

คนสมัยก่อนจะเก็บดอกพะยอมมาปรุงเป็นยาแก้ลม บำรุงหัวใจ และยังช่วยลดไข้ เปลือกมีรสฝาดใช้สมานลำไส้ แก้ท้องเดิน

บางแห่งใช้เปลือกเคี้ยวแทนหมากทานกับใบพลูได้ นอกจากนี้ในด้านภูมิปัญญาไทยยังมีการนำพะยอมมาใช้ในการถนอมอาหาร

เช่น ชาวบ้านใช้เปลือกต้นพะยอมสับเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่กระบอกน้ำตาลที่รองจากงวงตาลหรือมะพร้าวแทนสารกัดบูด เป็นต้น

จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้เราได้ทราบว่า “พะยอม” นอกจากจะมีคุณค่าต่อสังคมแล้ว ยังมีคุณค่าทางใจต่อชาวราชภัฏอุบลอีกด้วย

เราจึงควรตระหนัก หวงแหน และมาร่วมกันอนุรักษ์ “พะยอม” ให้คงอยู่คู่กับชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีตลอดไป

เรียบเรียงโดย    อาจารย์ ดร.สุชยา  เกียรติประจักษ์  (วิริยะการุณย์)

แหล่งอ้างอิง

https://www.doctor.or.th/article/detail/3656

https://community.akanek.com/th/plant-profile/พะยอม-หอมเช้า-หอมเย็น

https://medthai.com/พะยอม/

ภาพประกอบ : งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มรภ.อุบลราชธานี